Header Image
พระราชประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
watermark
 

นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดาวาด ดำรงตำแหน่งองคมนตรี แม่ทัพภาคที่ 1 พระองค์แรก จเรทหารช่าง ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทั้งยังทรงริเริ่มการค้นหาปิโตรเลียมในประเทศสยาม และทรงเป็นต้นราชสกุลฉัตรชัย 
            

พระประวัติ
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เจ้าจอมมารดาวาด ขณะทรงพระเยาว์เริ่มศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
          ปี พ.ศ. 2437 เสด็จไปทรงศึกษาต่อด้านโยธาธิการที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมที่ทรินิทีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาทหารช่างที่ แชทแฮม จากนั้นเสด็จศึกษาเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศส ทรงศึกษาการทำทำนบและขุดคลอง ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเสด็จกลับมาทรงงานและศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนได้เป็นสมาชิก M.I.C.E. (Member of the Institution of Civil Engineer) (เทียบเท่า วิศวกรรมสถาน)
          พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2447 ทรงรับราชการทหาร เหล่าทหารช่างกรมยุทธนาธิการทหารบก จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรองคมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2449 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอรรคโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรกในปี พ.ศ. 2451 และทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลา 17 ปี ทรงนำความรู้ในวิชาการทหารแผนใหม่ตามแบบอย่างประเทศตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารช่าง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารช่างแผนใหม่ และกองทัพ ต่อมาปี พ.ศ. 2452 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทรงถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตั้งเป็นองคมนตรี ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 พระองค์แรก เมื่อปี พ.ศ. 2454 ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 โปรดให้เลื่อนเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอรรคโยธิน และวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 โปรดให้เลื่อนเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยุบรวมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม จึงโปรดให้กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน รับตำแหน่งผู้รั้งเสนาบดีกระทรวงคมนาคมและพาณิชยการตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2468 จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 จึงทรงตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และทำการ
          ในตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยามด้วย ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 โปรดให้เลื่อนเป็น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประชาธิบดินทรเจษฎภาดา ปิยมหาราชวงศ์วิศิษฎ์ อเนกยนตรวิจิตรกฤตยโกศล วิมลรัตนมหาโยธาธิบดี ราชธุรันธรีมโหฬาร พาณิชยการคมนาคม อุดมรัตนตรัยสรณธาดา มัททวเมตตาชวาศรัย ฉัตรชัยดิลกบพิตร ทรงศักดินา 15000 และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงเป็นองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 จนถึงปี พ.ศ. 2475

การสิ้นพระชนม์
         พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงลาออกจากราชการและเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับครอบครัวเมื่อ พ.ศ. 2476 ต่อมาประชวรจนกระทั่งวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2479 จึงสิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ สิริพระชันษาได้ 55 ปี พระชายาได้เชิญพระศพกลับกรุงเทพฯ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลโปรดให้ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร แล้วประกอบการพระราชกุศลทักษิณานุปทานในวันที่ 8 – 9 ตุลาคม มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

พระกรณียกิจ
•   ด้านการรถไฟไทย
         การดำเนินกิจการรถไฟในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงให้ชาวต่างประเทศเป็นผู้ควบคุมการบริหารกิจการทั้งหมด กระทั่งปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร รักษาการตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟสายเหนือ ในปี พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมรถไฟหลวง" และให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และทรงบุกเบิกพัฒนากิจการต่าง ๆ ของกรมรถไฟหลวง ขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน สายตะวันออกเฉียงเหนือทรงสร้างทางรถไฟจาก นครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี สายตะวันออกจาก ฉะเชิงเทรา  ถึง อรัญประเทศ และในปี พ.ศ. 2471 พระองค์ยังได้ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซล จำนวน 2 คัน (หมายเลข 21 และ 22) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีกำลัง 180 แรงม้า เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่า รถจักรไอน้ำลากจูงขบวนรถไม่สะดวก และไม่ประหยัด อีกทั้งลูกไฟที่กระจายออกมาเป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร และอาจทำให้เกิดไฟไหม้ไม้หมอนอีกด้วย ซึ่งรถจักรดีเซลทั้งสองคันดังกล่าว เป็นรถจักรดีเซลคันแรกในทวีปเอเชีย และถือว่าประเทศไทยนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้งานเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียด้วย

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมกรมทางไปขึ้นกับกรมรถไฟหลวง โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ เช่น สะพานกษัตริย์ศึก เป็นสะพานลอยข้ามทางรถไฟแห่งแรก และสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง สะพานพุทธ สะพานพระราม 6

         ในปี พ.ศ. 2464 ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ได้ทรงริเริ่มนำเอาเครื่องเจาะมาทำการเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบ ในบริเวณที่มีผู้พบน้ำมันดิบไหลขึ้นมาบนผิวดินที่บ่อหลวง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันเข้ามาสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อค้นหาน้ำมันดิบและถ่านหินในประเทศไทย

•   ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร
         พระองค์ทรงริเริ่มนำวิทยาการด้านการสื่อสารเข้ามาใช้การพัฒนาประเทศ ทรงตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงทดลองขนาดเล็ก และสั่งเครื่องวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง ทรงเปิดกิจการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2473 ใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" และถือว่าเป็นบุคคลแรกของสยาม ที่ต้องการให้ประเทศสยาม มีการส่ง เทเลวิชั่น หรือ วิทยุโทรทัศน์ขึ้นครั้งแรกในประเทศสยาม แต่ความคิดที่จะต้องการส่งแพร่ภาพโทรทัศน์ เมื่อขณะดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในขณะนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสยามได้เปลื่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ทำให้การกำเนิดโทรทัศน์จึงล้มเลิกไปในระยะหนึ่ง (หากประสบความสำเร็จ ประเทศสยาม อาจเป็นประเทศแรกของเอเชีย ที่มีการส่งโทรทัศน์)
         ด้านการสื่อสาร ทรงให้ความสำคัญกับการสื่อสาร โดยจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขทั่วประเทศ ให้บริการรับส่งจดหมาย พัสดุ ไปรษณีย์ ธนาณัติ และโทรเลข รวมทั้งการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และวิทยุโทรเลขภายในและภายนอกประเทศ
         ด้านการคมนาคม ทรงสนพระทัยกิจการบิน โดยทรงทดลองขับเครื่องบินสาธิต จนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นคนไทยคนแรกที่มีโอกาสขึ้นเครื่องบิน และทรงวางรากฐานกิจการการบินขึ้นในประเทศไทย และการจัดการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ จัดตั้งบริษัทเดินอากาศและเปิดเส้นทางพาณิชย์

•   ด้านอื่น ๆ
         1 เมษายน พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน และให้ นายพลเอก กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศในขณะนั้น) รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และเป็นนายกสภาเผยแผ่พาณิชย์
         17 กันยายน พ.ศ. 2473 ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบในอุดมการณ์ของโรตารี จึงได้ก่อตั้งสโมสรโรตารี แห่งแรกในประเทศไทยขึ้น เรียกชื่อว่า "สโมสรโรตารีกรุงเทพ" มีสมาชิกก่อตั้งรวม 69 ท่าน ซึ่งมีสัญชาติต่าง ๆ อยู่ถึง 15 ชาติด้วยกัน โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้ง ท่านหนึ่ง การประชุมก่อตั้งได้จัดทำขึ้น ณ พระราชวังพญาไท (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร) โดยเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงรับเป็นนายกก่อตั้งสโมสร
         21 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงปฏิบัติราชการแทนพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีเป็นครั้งคราว

         ทรงริเริ่มการค้นหาปิโตรเลียมในประเทศสยามเป็นครั้งแรก

 พระชายาและหม่อม

          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นต้นราชสกุล “ฉัตรชัย 
ณ อยุธยา" มีพระชายาหนึ่งพระองค์คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิตนฤมล 
(พ.ศ. 2428 – 2506) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ กับ หม่อมราชวงศ์สว่าง จักรพันธุ์ (ราชสกุลเดิม ศิริวงศ์) อภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 นอกนั้นเป็นนางห้าม ได้แก่ เจ้าลดาคำ (สกุลเดิม ณ เชียงใหม่; พ.ศ. 2439 – 2527) หม่อมเพี้ยน (สกุลเดิม สุรคุปต์; พ.ศ. 2442 – 2481) หม่อมเผือด (สกุลเดิม พึ่งรักวงศ์; พ.ศ. 2449 – 2527) หม่อมบัวผัด (สกุลเดิม อินทรสูต; พ.ศ. 2454 – ไม่ทราบปี) หม่อมจำลอง (สกุลเดิม ชลานุเคราะห์; พ.ศ. 2456–2511) และหม่อมเอื้อม (สกุลเดิม อรุณทัต; พ.ศ. 2452–2491) มีพระโอรส พระธิดารวม 11 องค์ ดังนี้   
        

 

ลำดับ พระนาม ประสูติ สิ้นชีพิตักษัย มารดา เสกสมรส พระนัดดา
1.  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามยุรฉัตร  7 มีนาคม พ.ศ. 2449  11 สิงหาคม พ.ศ. 2513  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิตนฤมล  หม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัตน  หม่อมราชวงศ์พรรธนภณ สวัสดิวัตน์
2.  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร  12 สิงหาคม พ.ศ. 2458  24 กรกฎาคม พ.ศ. 2524  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิตนฤมล  หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม สารสาส)
3.  ท่านผู้หญิงฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี  27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2463  21 พฤษภาคม พ.ศ. 2539  เจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่ หม่อมเจ้ารวิพรรณไพโรจน์ รพีพัฒน์ วรงค์ วงศ์ทองศรี  หม่อมราชวงศ์พัฒนฉัตร รพีพัฒน์
 ฉัตรชัย วงศ์ทองศรี
 ดนัยฉัตร วงศ์ทองศรี
 ธนฉัตร วงศ์ทองศรี

4.  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร  28 พฤษภาคม พ.ศ. 2464  5 ธันวาคม พ.ศ. 2552  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิตนฤมล  หม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย  หม่อมราชวงศ์เฉลิมฉัตร วุฒิชัย
 หม่อมราชวงศ์พร้อมฉัตร สวัสดิวัตน์
5.  หม่อมเจ้ากาญจนฉัตร สุขสวัสดิ์  21 ธันวาคม พ.ศ. 2464  หม่อมเพี้ยน ฉัตรชัย ณ อยุธยา (สกุลเดิม สุรคุปต์)  หม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์  หม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์  หม่อมราชวงศ์อดิศรฉัตร สุขสวัสดิ์
 หม่อมราชวงศ์อรฉัตร ซองทอง
 หม่อมราชวงศ์ประกายฉัตร สุขสวัสดิ์
 หม่อมราชวงศ์ไชยฉัตร สุขสวัสดิ์
6.  หม่อมเจ้าภัทรลดา ดิศกุล  21 มีนาคม พ.ศ. 2467  29 มีนาคม พ.ศ. 2551  เจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่  หม่อมเจ้าพิริยดิศ ดิศกุล  หม่อมราชวงศ์รมณียฉัตร แก้วกิริยา
 หม่อมราชวงศ์ศุภดิศ ดิศกุล

7.  หม่อมเจ้าสุรฉัตร ฉัตรชัย  15 มิถุนายน พ.ศ. 2472  27 สิงหาคม พ.ศ. 2536  หม่อมเผือด ฉัตรชัย ณ อยุธยา (สกุลเดิม พึ่งรักวงศ์)  หม่อมรัชดา ฉัตรชัย ณ อยุธยา (ราชสกุลเดิม อิศรเสนา ณ อยุธยา)
หม่อมราชวงศ์เรืองรำไพ ฉัตรชัย (ราชสกุลเดิม ชุมพล)
 หม่อมราชวงศ์รพิฉัตร ฉัตรชัย
 หม่อมราชวงศ์ปิยฉัตร ฉัตรชัย

8.  เฟื่องฉัตร ดิศกุล  9 พฤษภาคม พ.ศ. 2475  8 กรกฎาคม พ.ศ. 2547  หม่อมบัวผัด ฉัตรชัย ณ อยุธยา (สกุลเดิม อินทรสูต)  หม่อมราชวงศ์พิพัฒนดิศ ดิศกุล  หม่อมหลวงธีรฉัตร บุรฉัตร
 หม่อมหลวงพิพัฒนฉัตร ดิศกุล
 หม่อมหลวงพิชยฉัตร ดิศกุล
 หม่อมหลวงฉัตรฏิปปีญา ดิศกุล

9.  หิรัญฉัตร เอ็ดเวิดส์  20 ตุลาคม พ.ศ. 2476  29 ตุลาคม พ.ศ. 2541  หม่อมจำลอง ฉัตรชัย ณ อยุธยา (สกุลเดิม ชลานุเคราะห์)  แอลเฟรด ฟิททิง เบเวน เอ็ดเวิดส์  ฉัตราภรณ์ คอรา ฟิททิง
 ฉัตราภา ออรอรา ฟิททิง
 ปีติฉัตร เบเวอร์ลี เอ็ดเวิดส์
 ภัทรฉัตร เบเวน เอ็ดเวิดส์

10.  หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย  6 ตุลาคม พ.ศ. 2477  13 มกราคม พ.ศ. 2553  หม่อมเอื้อม ฉัตรชัย ณ อยุธยา (สกุลเดิม อรุณทัต)  หม่อมจารุศรี ฉัตรชัย ณ อยุธยา (สกุลเดิม รัตนวราหะ)
 หม่อมมัณฑนา ฉัตรชัย ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค)
 หม่อมอรศรี ฉัตรชัย ณ อยุธยา (สกุลเดิม ลีนะวัต)
 หม่อมราชวงศ์ลักษมีฉัตร วรวรรณ
 หม่อมราชวงศ์กมลฉัตร บุญพราหมณ์
 หม่อมราชวงศ์ธิดาฉัตร จันทร์ตรี
 หม่อมราชวงศ์ปิยฉัตร ฉัตรชัย
 หม่อมราชวงศ์มณฑิรฉัตร ฉัตรชัย
 หม่อมราชวงศ์เอื้อมทิพย์ เศวตศิลา
 หม่อมราชวงศ์ฉัตรทิพย์ ฉัตรชัย
 หม่อมราชวงศ์เอิบทิพย์ ฉัตรชัย

11.  หม่อมเจ้าพิบูลฉัตร ฉัตรชัย  12 กันยายน พ.ศ. 2478  31 พฤษภาคม พ.ศ. 2499   หม่อมบัวผัด ฉัตรชัย ณ อยุธยา (สกุลเดิม อินทรสูต)   มิได้สมรส

 

 พระอิสริยยศ
          •    พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (23 มกราคม พ.ศ. 2424 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449)
          •    พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอรรคโยธิน (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
          •    พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอรรคโยธิน (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459)
          •    พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอรรคโยธิน (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465)
          •    พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
          •    พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472)
          •    พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
          •    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 - 14 กันยายน พ.ศ. 2479)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
          •    พ.ศ. 2448    เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) (ฝ่ายหน้า)
          •    พ.ศ. 2465   เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายหน้า)
          •    พ.ศ. 2448   เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.)
          •    พ.ศ. 2456   เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.) (ฝ่ายหน้า)‎ (ฝ่ายหน้า)
          •    พ.ศ. 2471   เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
          •    พ.ศ. ไม่ปรากฏ   เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
          •    พ.ศ. 2455   เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
          •    พ.ศ. 2449   เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
          •    พ.ศ. 2436   เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)
          •    พ.ศ. 2461   เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 2 มหาโยธิน (ม.ร.)
          •    พ.ศ. ไม่ปรากฏ   เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ (ว.ภ.)
          •    พ.ศ. 2448   เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))
          •    พ.ศ. 2451   เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 2 (จ.ป.ร.2)
          •    พ.ศ. 2459   เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)
          •    พ.ศ. 2469   เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1 (ป.ป.ร.1)

พระสมัญญา
          •    พระบิดาแห่งกิจการวิทยุกระจายเสียงไทย
          •    พระบิดาแห่งการรถไฟไทย
          •    พระบิดาแห่งโรตารีไทย
          •    ผู้วางรากฐานกิจการทหารช่างแผนใหม่และกองทัพ

พระยศ
          พระยศทหาร
          •    นายพลเอก
          •    นายพลโท
          •    นายพลตรี
          พระยศเสือป่า
          •    นายหมู่ใหญ่
          •    นายกองตรี

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เจ้าชายนักถ่ายหนังแห่งสยาม

          เมื่อเดินทางเข้าสู่ประตูรั้วหอภาพยนตร์ ผู้มาเยือนทุกคนคงจะสะดุดตากับรูปปั้นของบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งยืนถือกล้องถ่ายภาพยนตร์อยู่อย่างโดดเด่นบนหัวขบวนรถจักรไอน้ำ รูปปั้นนี้คือ พระรูปประติมากรรม พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ที่นอกจากจะทรงเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าด้วยพระปรีชาสามารถในวิทยาการด้านต่าง ๆ ทั้งการคมนาคม การขนส่ง การสื่อสาร  การทหาร พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ฯลฯ พระองค์ยังทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นคนสำคัญของสยาม และทรงเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

          ด้วยความที่สนพระทัยในวิชาช่างเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงกำหนดให้พระองค์ศึกษาด้านโยธาธิการ และวิชาวิศวกรรมที่ประเทศอังกฤษ ตลอดระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่อยู่ต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประดิษฐกรรมชิ้นใหม่ของโลก “ภาพยนตร์” ได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินซึ่งทรงสนพระทัยในการถ่ายภาพนิ่งตามอย่างพระราชนิยมของพระราชบิดาเป็นพื้นอยู่แล้ว จึงทรงเริ่มศึกษาและทดลองถ่ายภาพยนตร์ในแบบสมัครเล่น จนเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์สมัครเล่นของอังกฤษในขณะนั้น                   
          กล่าวถึงกิจการภาพยนตร์บนแผ่นดินสยามในขณะนั้น ชาวสยามได้เริ่มรู้จักคุ้นเคยกับประดิษฐกรรมอย่างใหม่ของโลกเป็นอย่างดีแล้ว จากการที่มีชาวต่างประเทศนำภาพยนตร์เข้ามาจัดฉายอยู่เป็นระยะ รวมทั้งในพระนครก็ได้เริ่มมีโรงหนังถาวรเกิดขึ้น โดยชาวสยามที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในกิจการด้านนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ซึ่งเป็นพระปิตุลาของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และเป็นผู้มีฝีพระหัตถ์ด้านภาพยนตร์อันลือชื่อ รวมทั้งทรงนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์และงานรื่นเริงต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเทศกาลประจำปีของวัดเบญจมบพิตรฯ  หรือที่บางครั้งเรียกว่า งานสวนดุสิต ซึ่งถือเป็นงานออกร้านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสยามในช่วงเวลานั้น 
          ในงานสวนดุสิต ประจำปี พ.ศ. 2451 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคม ขณะที่กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงออกร้านฉายภาพยนตร์ของพระองค์อย่างที่เคยเป็นมาเช่นทุกปี ได้ปรากฏว่า กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงออกร้านแสดงกิจกรรมด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่พระองค์นำมาแสดง คือแบบจำลองระบบรถรางไฟฟ้าที่ทรงจัดสร้างขึ้นเอง และมีภาพยนตร์ขนาดเล็กจัดแสดงประกอบอยู่ด้วย กิจกรรมออกร้านนี้คล้ายเป็นดั่งนิมิตบอกเหตุการณ์ล่วงหน้า ถึงพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของพระองค์เกี่ยวกับ “รถไฟ” กับ “ภาพยนตร์” ซึ่งผูกพันเกี่ยวเนื่องกัน และปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในรัชกาลถัดมา
          พ.ศ. 2457 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินได้เสด็จไปยังประเทศอังกฤษ พระองค์ได้ประทานสัมภาษณ์แก่ นิตยสาร The Kinematograph and Lantern Weekly เมื่อคราวเสด็จ เยือนบริษัท คลาเรนดอน ฟิล์ม (The Clarendon Film Company) โดยทรงเล่าถึง
พระราชนิยมด้านการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ว่าพระองค์ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์ที่มีความสนพระทัยอย่างจริงจัง และทรงมีห้องสำหรับฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ที่สยาม โดยทรงมีอุปกรณ์ภาพยนตร์ของบริษัทปาเต๊ะ (Pathe) แห่งฝรั่งเศส และทรงสนพระทัยเป็นพิเศษในกล้องของ เชอรี่ เคียร์ตัน (Cherry Kearton) ช่างถ่ายภาพแนวสัตว์ป่าผู้มีชื่อเสียง นอกจากนี้ยังทรงทดลองถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เช่น การใช้กระจกเงาหรือแว่นกรองแสง ทั้งยังโปรดให้ทหารในกองทัพชมภาพยนตร์ และที่สำคัญ คือทรงมีพระดำริอันลึกซึ้งถึงอนาคตของการภาพยนตร์ว่า 
          “ข้าพเจ้าแลเห็นอนาคตอันยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ในแง่นี้ ในยามที่ประชาชนของทุกประเทศถูกปรนเปรอด้วยหนังชีวิต หนังตลก และหนังบรรยายเรื่อง แน่ล่ะ ด้านบันเทิงย่อมต้องมีอยู่เสมอ และพวกเรายังคงสนใจในเรื่องเล่าต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังที่ข้าพเจ้าเองเพิ่งได้ชมในงานของ ท่านผู้หญิงทาวน์เซนด์ (นักเขียนบทภาพยนตร์
ของบริษัท คลาเรนดอน – ผู้เขียน) แต่ข้าพเจ้าคิดว่าโรงเรียนทั้งหลายของเราจะเห็นคุณค่าของภาพยนตร์ในฐานะครู และจะได้ใช้ประโยชน์จากมันมากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ” 

          ข้อผิดพลาดประการหนึ่งของบทความในนิตยสารดังกล่าว คือ การกล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเป็น The Crown Prince of Siam หรือ มกุฎราชกุมารแห่งสยาม ซึ่งไม่ใช่พระยศที่แท้จริงของพระองค์  แต่อย่างไรก็ตาม ในหนังสือกินเนสส์ว่าด้วยภาพยนตร์ (The Guinness Book of Film) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2523  ได้ระบุว่า “เจ้านายนักถ่ายภาพยนตร์รายแรก คือ มกุฎราชกุมารแห่งสยาม ผู้ทรงฝักใฝ่ในงานอดิเรกนี้มาตั้งแต่ปี 2457 พระองค์ยังมีโรงฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์อยู่ในพระราชวังที่กรุงเทพฯด้วย”  และ “เชื้อพระวงศ์รายแรกที่มีโรงภาพยนตร์ส่วนตัวอยู่ในวัง ได้แก่ มกุฎราชกุมารแห่งสยามและพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 แห่งรัสเซีย ตั้งแต่ในราวปี 2456 ทั้งสองราย”
          ข้อเท็จจริงคือ ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2456 – 2457 แผ่นดินสยามไม่มีมกุฎราชกุมารอย่างเป็นทางการ หากหมายถึง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ซึ่งทรงเคยเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนหน้านั้น ก็ไม่พบหลักฐานว่าพระองค์ทรงถ่ายทำภาพยนตร์ หรือโปรดภาพยนตร์อย่างงานอดิเรกแต่อย่างใด จึงอาจเป็นไปได้ว่า “มกุฎราชกุมารแห่งสยาม”ที่หนังสือกินเนสส์ระบุนั้น หมายถึงกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ที่นิตยสาร The Kinematograph and Lantern Weeky เข้าใจผิดว่าทรงเป็น The Crown Prince of Siam และการประทานสัมภาษณ์ครั้งนั้นก็เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่งกับข้อมูลที่หนังสือกินเนสส์อ้างถึง

          ล่วงสู่ปี พ.ศ. 2460  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  ทรงมีพระบรมราโชบายยุบรวมกรมรถไฟสายเหนือและสายใต้เป็นกรมเดียวเรียกว่า กรมรถไฟหลวง และโปรดฯ ให้กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินขึ้นเป็นผู้บัญชาการพระองค์แรก โดยในระหว่างที่ทรงพระกรณียกิจด้านการรถไฟด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงศึกษาเล่าเรียนมาจากต่างประเทศ พระองค์ยังทรงแสดงให้เห็นถึงความสนพระทัยในการถ่ายภาพยนตร์อยู่เสมอ โดยได้ทรงถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมรถไฟหลวง รวมทั้งในปี พ.ศ. 2463 เมื่อเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการรถไฟของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ก็ยังทรงถือโอกาสทอดพระเนตรกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์ที่ฮอลลีวู้ดด้วย

ภาพ : ภาพล้อกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ฝีพระหัตถ์ในหลวงรัชกาลที่  6

          ต้นปี พ.ศ. 2465  ภาพยนตร์ข่าวกิจการของกรมรถไฟหลวงเริ่มมีโปรแกรมออกฉายตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินได้ทรงจัดตั้งหน่วยผลิตภาพยนตร์ขึ้นในกรมรถไฟหลวง และต่อมา จึงปรากฏชื่ออย่างเป็นทางการว่า กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง โดยมีอาคารที่ทำการตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ทันสมัยทั้งด้านการพิมพ์และล้างฟิล์มภาพยนตร์ กล้องถ่ายภาพยนตร์ ไฟโคมถ่ายภาพยนตร์   ซึ่งสั่งซื้อโดยตรงมาจากฮอลลีวู้ด
          กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ที่ก่อตั้งโดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินนี้ นับเป็นหน่วยงานภาพยนตร์ของรัฐแห่งแรกในสยามและแห่งแรกแห่งหนึ่งในโลก ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ข่าวและสารคดีเผยแพร่กิจการของการรถไฟ พระราชกรณียกิจและพระราชพิธีต่าง ๆ  รวมถึงภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสยาม ตลอดจนกิจการของหน่วยงานราชการอื่น ๆ ทั้งยังรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้เอกชนทั่วไปด้วย นอกจากนี้ในปลายปี พ.ศ. 2465 กรมรถไฟหลวง โดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ดูแลช่วยเหลือหาสถานที่ถ่ายทำและอำนวยความสะดวกเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ แก่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ของนายเฮนรี่ แม็คเร (Henry Macrae) นักสร้างหนังจากฮอลลีวูด ซึ่งเดินทางเข้ามาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างภาพยนตร์ในสยาม  โดยเมื่อถ่ายทำเสร็จสิ้น นายแม็คเรได้มอบสำเนาฟิล์ม 1 ชุด ให้แก่กรมรถไฟหลวง ซึ่งได้ให้สยามภาพยนตร์บริษัทเช่าไปจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ในเครือของบริษัท ในชื่อว่า นางสาวสุวรรณ  นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่แสดงโดยคนไทย
          ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตภาพยนตร์ของชาติ กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ยังเป็นดั่งสำนักตักศิลา ฝึกฝนวิชาภาพยนตร์ให้แก่บุคลากรในหน่วยงาน ซึ่งบางส่วนได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของชาติในเวลาต่อมา  ที่โดดเด่นที่สุดคือ หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) หัวหน้าช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์คนที่ 2 ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว ซึ่งได้เป็นแกนหลักของพี่น้องสกุลวสุวัตในการสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก คือ โชคสองชั้น ออกฉายปี พ.ศ. 2470 และได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์อันดับหนึ่งของสยามตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีนับจากนั้น  โดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ยังทรงเป็นอุปถัมภ์ของการสร้างภาพยนตร์เสียงของพี่น้องสกุลวสุวัต ในระยะเริ่มต้นอีกด้วย
          นอกจากก่อตั้งหน่วยงานผลิตภาพยนตร์ของรัฐ  กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินยังทรงมีกิจการภาพยนตร์สมัครเล่นส่วนพระองค์ ซึ่งทรงเรียกว่า “บ้านดอกไม้ฟิล์ม” ตามชื่อวังที่พระองค์ประทับ และมีตราประจำพระองค์คือ เทวดาอัญเชิญฉัตร  เป็นตราของภาพยนตร์ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์บ้านดอกไม้ฟิล์มนี้  มีทั้งที่ทรงถ่ายด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และให้ข้าราชบริพารถ่ายถวาย  ส่วนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายขึ้นเพื่อเป็นสื่อให้ความรู้ บันทึกเหตุการณ์สำคัญ หรือเผยแพร่พระกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทรงเกี่ยวข้อง และอีกส่วนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทรงถ่ายทำด้วยการใช้เทคนิคพิเศษต่าง ๆ อย่างที่เรียกว่า ภาพยนตร์ทดลอง  ซึ่งทั้งหมดนี้มีจำนวนรวมกันมากมายมหาศาลนับหลายร้อยม้วน นับเป็นกรุภาพยนตร์สมัครเล่นที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากที่สุดกรุหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย
          เมื่อสยามผลัดแผ่นดินสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้มีพระราชนิยมในการภาพยนตร์และโปรดการถ่ายภาพยนตร์เช่นเดียวกัน กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินก็ทรงมีบทบาทในการถวายคำแนะนำแก่องค์พระมหากษัตริย์ด้วย  และในปี พ.ศ. 2473 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม” ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการประชุมฉายภาพยนตร์ของสมาชิกเป็นประจำทุกเดือน กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงได้รับเลือกให้เป็นองค์อุปนายกในปีแรก และเป็นนายกสมาคมในปีถัดมา โดยทรงจัดตั้งคณะอนุกรรมการแผนกขายของ แผนกเทคนิค และแผนก Film Library หรือห้องสมุดภาพยนตร์ของสมาคม
          นอกเหนือจากงานด้านภาพยนตร์ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินยังทรงกำกับดูแลกิจการสำคัญต่าง ๆ ของชาติอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เมื่อปี พ.ศ. 2469  และทรงได้รับการถวายพระเกียรติให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งกิจการวิทยุกระจายเสียงไทย” จากการที่ทรงริเริ่มกิจการวิทยุและวิทยุกระจายเสียงขึ้นในประเทศไทย และพระคุณูปการที่มีต่อการพัฒนาการรถไฟไทยตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ทำให้พระองค์ยังได้รับการยกย่องให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่” อีกด้วย
          พระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เริ่มลดบทบาทลงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  โดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ได้ถูกยุบเลิก ภายหลังรัฐบาลได้ตั้งกองโฆษณาการขึ้นมาทำหน้าที่แทน ในขณะที่สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยามซึ่งทรงเป็นนายกสมาคมมาตลอดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 นั้น ได้ยุติลงในปี พ.ศ. 2476 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จฯ ออกจากสยาม 
          กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงลาออกจากราชการ และเสด็จฯ ไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมครอบครัว เมื่อ ปี พ.ศ. 2477 ขณะที่อยู่ที่สิงคโปร์ พระองค์ยังคงทรงมีพระทัยรักมั่นในการภาพยนตร์อยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยทรงยังถ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ และทรงมีพระดำริจัดตั้งชมรมหนังบ้านขึ้นในสิงคโปร์  รวมทั้งยังเสด็จเยือนกิจการโรงถ่ายฮอลลีวู้ด ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2479 
สิริพระชนมายุได้ 54 ปี 
          ปัจจุบัน หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้เก็บอนุรักษ์ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ซึ่งได้รับมอบจากทายาทคือ หม่อมราชวงศ์พรรธนภณ สวัสดิวัตน์ นับร้อยม้วนเพื่อให้เป็นมรดกสำคัญของชาติ รวมทั้งได้จัดสร้าง “ห้องกำแพงเพชร” ภายในนิทรรศการภาพยนตร์กับรถไฟ บนขบวนรถไฟสายภาพยนตร์ สถานีศีนิมา เพื่อเผยแพร่พระเกียรติประวัติและพระเกียรติยศด้านภาพยนตร์ ให้อนุชนได้รับรู้ และในปี พ.ศ. 2561 คณะกรรมการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีมติถวายพระเกียรติยศแด่พระองค์ โดยประดับลายพระหัตถ์ พระนาม “บุรฉัตรไชยากร” เป็นชื่ออาคารที่ตั้งของฝ่ายอนุรักษ์ภาพยนตร์ เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการที่ทรงมีต่อกิจการภาพยนตร์ในสยาม
ที่มา : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar