Header Image
ประวัติกระทรวงพาณิชย์
watermark
 

ประวัติกระทรวงพาณิชย์

2457

จากอาณาจักรสุโขทัย ศูนย์กลางการค้าทางบกของภูมิภาค สู่สมัย กรุงศรีอยุธยาที่สยามเจริญสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าทางทะเล กับชาติตะวันตก ต่อมาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ขยายการค้าทางทะเลกับประเทศจีนและชาติตะวันตกอื่น ๆ โดยมีอังกฤษเข้ามาทำสนธิสัญญาทางการค้าเป็นประเทศแรก เมื่อเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง สยามเร่งปฏิรูปประเทศในทุกด้านเพื่อให้ทัดเทียมชาติตะวันตก ขณะที่งานราชการด้านการค้ายังคงรวมอยู่ในกระทรวงอื่น

2463-2469

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สภาเผยแผ่พาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมงานที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ และเพื่อศึกษาพัฒนากฎหมายการค้า แก้ไขข้อเสียเปรียบในสนธิสัญญาทางการค้า ตลอดจนขยายตลาด การค้าต่างแดนเพื่อเพิ่มรายได้ช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) เมื่อการค้าภายใน และการค้าโลกฝืดเคือง ประเทศตัดทอนขายจ่ายด้วยการยุบหน่วยงานราชการ ปรับลดจำนวนข้าราชการ และควบรวมกระทรวงเข้าด้วยกัน

2475-2500

กระทรวงพาณิชย์เปลี่ยนชื่อ ปรับโครงสร้าง ตั้งหน่วยงานกรมและกองขึ้นใหม่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศ "สยาม" เปลี่ยนชื่อเป็น "ไทย" ใช้นโยบายรัฐนิยมเกี่ยวกับการพาณิชย์ เน้นให้คนไทยใช้ของที่ผลิตโดยคนไทย เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงได้จัดทำดัชนีราคาและข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดออกเผยแพร่แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ขณะที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงและ องค์การระหว่างประเทศ

2501-2531

เปิดฉากแข่งขันกลุ่มการค้าทั้งยุโรปและอาเชียน พาณิชย์โลกขยายตัวด้วยเส้นทางการค้าทางอากาศ กระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และจัดตั้งศูนย์พาณิชยกรรมในต่างประเทศอย่างเป็นทางการ โครงสร้างการค้าของไทยเริ่มเปลี่ยนจากสินค้าเกษตรมาสู่สินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

2532- ปัจจุบัน

ไทยประสบปัญหาภาวะค่าครองชีพสูง จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ "คาราวานสินค้าลดค่าครองชีพ ปี 2533" และโครงการ "ธงฟ้าราคาประหยัด" เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ยุคนี้เป็นยุคแห่ง การสร้างตราสัญลักษณ์และภาพลักษณ์สินค้าทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร ทวีความสำคัญ "กรมทรัพย์สินทางปัญญา" ถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองและปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระหว่างที่ไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ (ต้มยำกุ้ง) โลกภายนอกเริ่มก้าวเข้าสู่การยกระดับทางเทคโนโลยีสารสนเทศ อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของการพาณิชย์ในระยะต่อมา เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของ "กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์" มีส่วนช่วยตอบสนองพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และเมื่อธุรกิจพาณิชย์ e-Commerce ยกระดับการแข่งขันและสามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล กระทรวงจึงได้จัดตั้งเว็บไซต์ตลาดกลาง ซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ อำนวยความสะดวก ให้ผู้ซื้อทั่วโลกสามารถติดต่อซื้อขายกับผู้ส่งออกไทยได้อย่างง่ายดาย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้ประกอบการไทยและผู้ซื้อในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์หน่วยงานหลักขับเคลื่อน เศรษฐกิจการค้าของประเทศ กำหนดเป้าหมายและทิศทาง ก้าวสู่ศตวรรษที่สองไว้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2559 -2579) ที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม สร้างความมั่นคง มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

 

"กระทรวงท่าเตียน" ที่สื่อมวลชนมักจะเรียกขานเมื่อกล่าวถึงกระทรวงพาณิชย์นั้นก็เพราะสถานที่ตั้งของกระทรวงพาณิชย์อยู่บริเวณท่าเตียน สมรภูมิของยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ตามตำนานที่คนไทยทราบกันดี แล้วทำไมกระทรวงพาณิชย์จึงมาอยู่ที่นี่...

          ในเรื่องนี้จากบันทึกของขุนวิจิตรมาตรา (ส่ง กาญจนาคพันธ์) กล่าวไว้ว่าเมื่อแรกเริ่มตั้งกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เจ้ากระทรวงหรือเสนาบดีมักจะใช้บ้านของตัวเองเป็นสถานที่ทำการของกระทรวงแต่กระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ยังไม่มีกระทรวงเป็นของตัวเองก่อนหน้านั้นจึงได้ก่อตั้งอาคารขึ้นใหม่ตามประวัติที่ขุนวิจิตรมาตราสืบค้นไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ดังนี้ ตึกที่ว่าการกระทรวงพาณิชย์ (เศรษฐการ) สร้างขึ้นในที่ดินแปลงหนึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง มีถนนสามสายผ่านรายรอบทั้งสามด้านคือถนนเขตต์ ถนนสนามไชย และถนนมหาราช แต่เดิมนั้นที่ดินบริเวณนี้และพื้นที่รอบ ๆ เป็นที่ตั้งของวังต่าง ๆ เช่น วังกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช วังพระองค์เจ้างอนรถ วังพระองค์เจ้าเปียก วังกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ วังกรมหมื่นอมเรนทร์บดินทร์ วังพระองค์เจ้าลำยอง วังกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ วังกรมหมื่นภูมินทร์ภักดี  เป็นต้น

          ซึ่งบริเวณของตึกที่ทำการกระทรวงพาณิชย์นั้นเป็นพื้นที่ของวัง ๓ แห่ง คือ วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช วังกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณและวังกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ ตัวตึกกระทรวงพาณิชย์สร้างเป็นสามชั้นโอ่โถงงดงามฝีมือทำอย่างประณีตมีลวดลายเป็นฝรั่งกลาย ๆ จัดว่าเป็นตึกสมัยใหม่แปลกกว่าที่ทำการอื่น ๆ ชั้นล่างตอนหนึ่งสร้างเฉพาะสำหรับให้เป็นสำนักงานกลางมาตราชั่งตวงวัด โดยตรง ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วได้ขนเอาแบบมาตรา (Standard) เครื่องชั่ง ตวง วัด จากกระทรวงเกษตราธิการมาติดตั้งเป็นหลักสำคัญของกระทรวงที่ว่าด้วยการค้าขายมาจนถึงทุกวันนี้

          สัญลักษณ์หรือตราประจำกระทรวงในสมัยนั้น มีวิวัฒนาการน่าสนใจว่า ในสมัยกระทรวงเกษตรพาณิชยการสมัยแรก เสนาบดีถือตราพระพิรุณทรงนาค พระพิรุณเป็นเทวดาเจ้าน้ำ เป็นผู้บันดาลให้ฝนตก นาคก็เกี่ยวกับน้ำ ตราพระพิรุณทรงนาคจึงเกี่ยวกับกสิกรรมทำไร่ไถนาซึ่งเป็นของสำคัญมาแต่โบราณโดยตรง เมื่อตั้งเป็นกระทรวงพาณิชย์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีประกาศให้กระทรวงพาณิชย์ ใช้ตราเป็นรูปตุ้ม เครื่องชั่งทะนาน และไม้วัด ผูกกันเป็นลาย ตรานี้จึงเป็นความหมายเกี่ยวกับการพาณิชย์สอดคล้องต้องกันกับประวัติของกระทรวงและตัวตึกที่ว่าการดังบรรยายมาแต่ต้นในคราวเดียวกันนี้ประกาศให้กระทรวงพาณิชย์ใช้สีมอคราม เป็นสีเครื่องหมายกระทรวง ต่อมาเมื่อรวมกระทรวงพาณิชย์เข้ากับกระทรวงคมนาคม เรียกว่า "กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม" ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ มีประกาศให้ใช้ ตรารูปพระวิศุกรรมเป็นตรากระทรวง สีเครื่องหมายกระทรวงเปลี่ยนเป็นสีเลือดหมู ตราพระวิศุกรรมเป็นตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเดิม ซึ่งภายหลัง เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงคมนาคม และใช้ตราพระรามทรงรถ

          เมื่อเอางานคมนาคมมารวมเข้ากับงานพาณิชย์และถือว่างานพาณิชย์เป็นงานสำคัญ จึงกลับไปใช้ตราพระวิศุกรรม พระวิศุกรรมเป็นเทวดาชำนาญในการช่างตลอดจนการก่อสร้างที่มาเป็นตรากระทรวงพาณิชย์ก็เนื่องจากเป็นตราเก่าและงานของโยธาก็คลี่คลายมาเกี่ยวข้องกับงานพาณิชย์เป็นลำดับมาในปัจจุบัน ตราประจำกระทรวงคงเป็นตราพระวิศุกรรมแต่สีเครื่องหมายกระทรวงเปลี่ยนไปใช้สีมอครามตามเดิมที่บานประตูเหล็กใหญ่ของตัวกระทรวงมีแผ่นโลหะกรมเป็นตราภาพงูสองตัวพันไม้ไขว้กัน ตอนบนมีปีกสองข้างติดอยู่ทั้งสองบานเป็นคู่กันเข้าใจว่าตรานั้นเป็นไม้เท้ากายสิทธิ์ที่เรียกว่า คาดิวซุส (Caduceus) ซึ่งเป็นไม้ถือของเทวดากรีกมีนามว่า เฮอร์เมส (Hermes) และชาวโรมันเรียกว่าเมอร์คิวรี (Mercurius) ตามประวัติข้างกรีกมีว่า เฮอเมสเป็นโอรสของซูสมหาเทพเป็นช่างเทวดาเฉลียวฉลาดในเชิงประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น ประดิษฐ์พิณ ประดิษฐ์ตัวอักษร ตัวเลข และที่สำคัญก็คือ ประดิษฐ์เครื่องชั่ง ตวง วัด เฮอร์เมสเป็นที่เคารพบูชาของพ่อค้าวาณิชทั่วไป

 


พระราชประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

          มหาอำมาตย์เอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ เป็นพระอัยกาฝ่ายพระบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชปัยกาฝ่ายพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ได้แก่ อภิรัฐมนตรี องคมนตรี สมุหมนตรี ราชองครักษ์พิเศษ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ และนายทหารพิเศษกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และเป็นต้นราชสกุลกิติยากร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

พระประวัติ
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 12 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาอ่วม ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน 7 ปีจอ ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2417 ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากเจ้าจอมมารดาอ่วมเป็นลูกจีน พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ จึงถูกล้อว่า "วันจันทร์ ปีจอ เดือนเจ็ด ลูกเจ้า หลานเจ๊ก" ซึ่งมาจากพระองค์ประสูติ "ปีจอ วันจันทร์ เดือนเจ็ด ลูกพระจุล หลานพระจอม ตัวเป็นเจ้า ตาเป็นเจ๊ก"
          (เจ้าจอมมารดาอ่วม เป็นธิดาของพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม) เป็นผู้คิดขุดลอกคลองภาษีเจริญ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และยังเป็นเจ้าของเรือกลไฟชื่อ "เจ้าพระยา" เดินระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ รายแรกและรายเดียว ในสมัยนั้น เป็นต้นตระกูล "พิศลยบุตร" กับ คุณปรางค์ ผู้เป็นภรรยา)
          พ.ศ. 2425 พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาที่สำนักของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยมี มหาปั้น เป็นผู้ถวายพระอักษร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ขึ้นในพ.ศ. 2428
          วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2428 ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ผนวชแล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แล้วลาสิกขาบทในวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม ศกนั้น จากนั้นจึงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2428 นับเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้เสด็จไปศึกษาต่างประเทศ ประกอบด้วย
          •    พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์
          •    พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
          •    พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม
          •    พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช
          ทรงสำเร็จสาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) จากสถาบันตะวันออก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. 2437 ระหว่างศึกษาอยู่ พระองค์ทรงสังกัด วิทยาลัยแบเลียล (Balliol College) ของมหาวิทยาลัย
          วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2438 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี
          วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผนวชแล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช
          เมื่อเสด็จนิวัติกลับพระนคร ทรงรับราชการในกรมราชเลขานุการ จากนั้นมาทรงงานในตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ ทรงศักดินา 15000 เมื่อพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จึงโปรดให้กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถรั้งตำแหน่งเสนาบดีแทนตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 126 ถึงวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 127 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนคำนำพระนามเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ และในวันต่อมาพระองค์ท่านได้เข้าถือน้ำและรับตั้งเป็นองคมนตรี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงจันทบุรีนฤนาถ ทรงศักดินา 15000 ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ สุรเชษฐาธิราชกิตตยากร วรลักษณสุนทรวีรวิจิตร สรรพรัชดาธิกิจโกศล วิมลรัตนมหาโกศาธิบดี ธีรคุโณฬาร ศุภสมาจารสารสมบัติ มัทวเมตตาธยาศัย ไตรศรีรัตนสรณาคม อุดมศักดิ์บพิตร ทรงศักดินา 15000 ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงปรีชาสามารถในด้านการคลังและการเศรษฐกิจ ทรงพระดำริจัดตั้งคลังออมสินให้ราษฎรได้นำเงินฝากเพื่อให้ปลอดจากโจรภัยและอัคคีภัยและส่งเสริมการออมทรัพย์ ทรงจัดตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ และจัดการตั้งสหกรณ์ ทรงร่างกฎหมายวางระเบียบวิธีการศุลกากร และทรงแก้ไขปรับปรุงภาษีสรรพากร รวบรวมหน่วยงานจัดเก็บภาษีให้มารวมอยู่ในบังคับบัญชากระทรวงเดียวกัน ทรงจัดให้สุราและฝิ่นเป็นสิ่งผูกขาดของรัฐบาล เพื่อเตรียมการที่จะบังคับให้การสูบฝิ่นเป็นสิ่งต้องห้ามในเวลาต่อมา
          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี ที่ปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน และทรงเป็นกรรมการราชบัณฑิตยสถาน

 

การสิ้นพระชนม์
         ปลายปี พ.ศ. 2473 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถได้เสด็จไปรักษาอาการประชวรพระศออักเสบที่กรุงปารีส ระยะแรกพระอาการดีขึ้น ต่อมากลับกำเริบอีก และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 เวลา 11:05 น. สิริพระชันษาได้ 58 ปี
         กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการสร้างพระรูปพระองค์ท่านประดิษฐานไว้หน้าตึกที่ทำการกระทรวงพาณิชย์ ถนนสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อรำลึกพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก ปัจจุบันพระรูปของพระองค์ได้ย้ายไปประดิษฐานไว้ในสวนด้านในของอาคาร กระทรวงพาณิชย์ใหม่ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี

 

ผลงานทางวิชาการอันโดดเด่น
         กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลี ได้ทรงแปลเรื่อง “จันทกุมารชาดก” จาก ภาษาบาลี เป็นไทย จนทรงได้รับพระราชทานพัดเปรียญ 5 ประโยคจาก รัชกาลที่ 7 ทั้งที่ทรงเป็นฆราวาส เป็นกรณีพิเศษ ทรงพระนิพนธ์ ปทานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต โดยอาศัยพจนานุกรมบาลีของอาร์.ซี. ชิลเดอรส์ (R.C.Childers) ที่สมาคมบาลีปกรณ์ดำเนินการจัดพิมพ์มาก่อนหน้านี้แล้วเป็นหลัก แต่ต้นฉบับที่ทรงจัดทำไม่เรียบร้อยดีทุกส่วน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ องคมนตรี ตรวจชำระต้นฉบับที่พระองค์ทรงร่างขึ้นแล้วโปรดให้มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ปทานุกรมดังกล่าวเพื่อเผยแผ่ นับแต่นั้น ปทานุกรมเล่มนี้จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
         ในปี พ.ศ. 2490 พระโอรสและพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมจันทบุรีนฤนาถ ได้ทรงประทานหนังสือส่วนพระองค์กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ จำนวนกว่า 5,000 เล่ม ให้แก่หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนและเป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ท่าน โดยหนังสือภาษาไทยส่วนพระองค์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมจันทบุรีนฤนาถ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,116 เล่ม เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ในระหว่างปี พ.ศ. 2406 – 2470 เมื่อประเมินค่าตามเกณฑ์การประเมินค่าหนังสือหายากแล้ว พบว่าเป็นหนังสือหายากถึงกว่าร้อยละ 80 และเป็นหนังสือในหมวดศาสนามากที่สุด รองลงมาเป็นประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ตามลำดับ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือหายากที่มีคุณค่ายิ่งทางด้านเนื้อหาและความเป็นมรดกสูงค่า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้อย่างเต็มที่

พระราชประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เพิ่มเติมคลิกอ่านที่นี่

 


พระราชประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
 

นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดาวาด ดำรงตำแหน่งองคมนตรี แม่ทัพภาคที่ 1 พระองค์แรก จเรทหารช่าง ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทั้งยังทรงริเริ่มการค้นหาปิโตรเลียมในประเทศสยาม และทรงเป็นต้นราชสกุลฉัตรชัย 
            

 

พระประวัติ
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 พระนามเดิมพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เจ้าจอมมารดาวาด ขณะทรงพระเยาว์เริ่มศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
          ปี พ.ศ. 2437 เสด็จไปทรงศึกษาต่อด้านโยธาธิการที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมที่ทรินิทีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาทหารช่างที่แชทแฮม จากนั้นเสด็จศึกษาเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศส ทรงศึกษาการทำทำนบและขุดคลอง ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเสด็จกลับมาทรงงานและศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนได้เป็นสมาชิก M.I.C.E. (Member of the Institution of Civil Engineer) (เทียบเท่า วิศวกรรมสถาน)
          พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2447 ทรงรับราชการทหาร เหล่าทหารช่างกรมยุทธนาธิการทหารบก จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรองคมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2449 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอรรคโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรกในปี พ.ศ. 2451 และทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลา 17 ปี ทรงนำความรู้ในวิชาการทหารแผนใหม่ตามแบบอย่างประเทศตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารช่าง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารช่างแผนใหม่ และกองทัพ ต่อมาปี พ.ศ. 2452 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทรงถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตั้งเป็นองคมนตรี ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 พระองค์แรก เมื่อปี พ.ศ. 2454 ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 โปรดให้เลื่อนเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอรรคโยธิน และวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 โปรดให้เลื่อนเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยุบรวมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคม จึงโปรดให้กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน รับตำแหน่งผู้รั้งเสนาบดีกระทรวงคมนาคมและพาณิชยการตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2468 จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 จึงทรงตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และทำการในตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยามด้วย ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 โปรดให้เลื่อนเป็น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ประชาธิบดินทรเจษฎภาดา ปิยมหาราชวงศ์วิศิษฎ์ อเนกยนตรวิจิตรกฤตยโกศล วิมลรัตนมหาโยธาธิบดี ราชธุรันธรีมโหฬาร พาณิชยการคมนาคม อุดมรัตนตรัยสรณธาดา มัททวเมตตาชวาศรัย ฉัตรชัยดิลกบพิตร ทรงศักดินา 15000 และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงเป็นองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 จนถึงปี พ.ศ. 2475

 

การสิ้นพระชนม์
         พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงลาออกจากราชการและเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับครอบครัวเมื่อ พ.ศ. 2476 ต่อมาประชวรจนกระทั่งวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2479 จึงสิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ สิริพระชันษาได้ 55 ปี พระชายาได้เชิญพระศพกลับกรุงเทพฯ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลโปรดให้ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร แล้วประกอบการพระราชกุศลทักษิณานุปทานในวันที่ 8 – 9 ตุลาคม มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

 

พระกรณียกิจ
•   ด้านการรถไฟไทย
         การดำเนินกิจการรถไฟในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงให้ชาวต่างประเทศเป็นผู้ควบคุมการบริหารกิจการทั้งหมด กระทั่งปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร รักษาการตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟสายเหนือ ในปี พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมรถไฟหลวง" และให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และทรงบุกเบิกพัฒนากิจการต่าง ๆ ของกรมรถไฟหลวง ขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน สายตะวันออกเฉียงเหนือทรงสร้างทางรถไฟจาก นครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี สายตะวันออกจาก ฉะเชิงเทรา  ถึง อรัญประเทศ และในปี พ.ศ. 2471 พระองค์ยังได้ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซล จำนวน 2 คัน (หมายเลข 21 และ 22) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีกำลัง 180 แรงม้า เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่า รถจักรไอน้ำลากจูงขบวนรถไม่สะดวก และไม่ประหยัด อีกทั้งลูกไฟที่กระจายออกมาเป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร และอาจทำให้เกิดไฟไหม้ไม้หมอนอีกด้วย ซึ่งรถจักรดีเซลทั้งสองคันดังกล่าว เป็นรถจักรดีเซลคันแรกในทวีปเอเชีย และถือว่าประเทศไทยนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้งานเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียด้วย

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมกรมทางไปขึ้นกับกรมรถไฟหลวง โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ
พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ เช่น สะพานกษัตริย์ศึก เป็นสะพานลอยข้ามทาง
รถไฟแห่งแรก และสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง สะพานพุทธ สะพานพระราม 6

         ในปี พ.ศ. 2464 ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ได้ทรงริเริ่มนำเอาเครื่องเจาะมาทำการเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบ ในบริเวณที่มีผู้พบน้ำมันดิบไหลขึ้นมาบนผิวดินที่บ่อหลวง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันเข้ามาสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อค้นหาน้ำมันดิบและถ่านหินในประเทศไทย

•   ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร
         พระองค์ทรงริเริ่มนำวิทยาการด้านการสื่อสารเข้ามาใช้การพัฒนาประเทศ ทรงตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงทดลองขนาดเล็ก และสั่งเครื่องวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง ทรงเปิดกิจการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2473 ใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" และถือว่าเป็นบุคคลแรกของสยาม ที่ต้องการให้ประเทศสยาม มีการส่ง เทเลวิชั่น หรือ วิทยุโทรทัศน์ขึ้นครั้งแรกในประเทศสยาม แต่ความคิดที่จะต้องการส่งแพร่ภาพโทรทัศน์ เมื่อขณะดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในขณะนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ทำให้การกำเนิดโทรทัศน์จึงล้มเลิกไปในระยะหนึ่ง (หากประสบความสำเร็จ ประเทศสยาม อาจเป็นประเทศแรกของเอเชีย ที่มีการส่งโทรทัศน์)
         ด้านการสื่อสาร ทรงให้ความสำคัญกับการสื่อสาร โดยจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขทั่วประเทศ ให้บริการรับส่งจดหมาย พัสดุ ไปรษณีย์ ธนาณัติ และโทรเลข
รวมทั้งการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และวิทยุโทรเลขภายในและภายนอกประเทศ
         ด้านการคมนาคม ทรงสนพระทัยกิจการบิน โดยทรงทดลองขับเครื่องบินสาธิต จนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นคนไทยคนแรกที่มีโอกาสขึ้นเครื่องบิน และทรงวางรากฐานกิจการการบินขึ้นในประเทศไทย และการจัดการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ จัดตั้งบริษัทเดินอากาศและเปิดเส้นทางพาณิชย์

•   ด้านอื่น ๆ
         1 เมษายน พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน และให้ นายพลเอก กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศในขณะนั้น) รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และเป็นนายกสภาเผยแผ่พาณิชย์
         17 กันยายน พ.ศ. 2473 ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบในอุดมการณ์ของโรตารี จึงได้ก่อตั้งสโมสรโรตารี แห่งแรกในประเทศไทยขึ้น เรียกชื่อว่า "สโมสรโรตารีกรุงเทพ" มีสมาชิกก่อตั้งรวม 69 ท่าน ซึ่งมีสัญชาติต่าง ๆ อยู่ถึง 15 ชาติด้วยกัน โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้ง ท่านหนึ่ง การประชุมก่อตั้งได้จัดทำขึ้น ณ พระราชวังพญาไท (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร) โดยเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงรับเป็นนายกก่อตั้งสโมสร
         21 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงปฏิบัติราชการแทนพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีเป็นครั้งคราว

พระราชประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เพิ่มเติมคลิกอ่านที่นี่


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar