Header Image
คำถามที่ถูกถามบ่อย สอบถามเพิ่มเติม
หน่วยงาน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
หลักเกณฑ์การจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมตราของบริษัท?

การแก้ไขเพิ่มเติมตราของบริษัท จะต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น หรือที่ประชุมคณะกรรมการ

การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน?

การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนผู้ขอจดทะเบียนต้องลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน พร้อมแสดงบัตรประจำตัว ในกรณีที่ไม่อาจลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนได้ไม่ว่าด้วยระการใดๆ ให้ถือว่าลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนเป็นที่ถูกต้อง เมื่อผู้ขอจดทะเบียนลงลายมือชื่อด้วยตนเองต่อหน้าบุคคลดังต่อไปนี้

1. กรณีลงลายมือชื่อในราชอาณาจักร ก. พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งประจำอยู่ในท้องที่ที่ผู้ขอจดทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ ข. สามัญสมาชิกหรือสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือ ค. บุคคลอื่นตามที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด ได้แก่ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต กรรมการและเจ้าหน้าที่หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัด ตามประกาศสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางฯ

2. กรณีลงลายมือชื่อในต่างประเทศ ก. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยหรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงาน ณ ประเทศนั้น หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนบุคคลดังกล่าว ข.บุคคลซึ่งสามารถให้การรับรองที่สมบูรณ์ตามแบบของกฎหมายแห่งประเทศนั้น หรือ ค.บุคคลที่ควรเชื่อถือได้สองคนมาลงลายมือชื่อรับรองต่อหน้านายทะเบียนว่าเป็นลายมือชื่อผู้นั้นจริง 

บริษัทจำเป็นต้องจดทะเบียนตราของบริษัทด้วยหรือไม่?

บริษัทขอจดทะเบียนตราของบริษัทหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่อำนาจกรรมการ ระบุว่าต้องประทับตราสำคัญบริษัท ต้องขอจดทะเบียนดวงตราสำคัญด้วย

เหตุที่จะเลิกบริษัท ?

1.เลิกตามที่ข้อบังคับกำหนดกรณีที่จะเลิกไว้
2.เลิกตามกำหนดเวลาที่จดทะเบียนไว้
3.ถ้าบริษัทตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างเดียว บริษัทย่อมเลิกกันเมื่อเสร็จการนั้น
4.เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก
5.เมื่อบริษัทล้มละลาย
6.เมื่อศาลสั่งให้เลิก  

คำแสดงนิติฐานะของบริษัทในดวงตรา จะใช้คำย่อได้หรือไม่ ?

 ไม่ได้ การใช้ชื่อและบริษัทจำกัดเป็นตราหรือส่วนหนึ่งของตรา จะต้องระบุคำแสดงนิติฐานะ โดยใช้ “บริษัท” ไว้หน้าชื่อ และ “จำกัด” ไว้ท้ายชื่อ (ยกเว้นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “บริษัท” ไว้หน้าชื่อ

ทางราชการมีการแก้ไขเลขที่ ถนน แขวง เขตของสำนักงาน จะต้องทำอย่างไร?

1. ให้กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำหนังสือถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ขอแก้ไขเลขที่ ถนน แขวง เขตให้ถูกต้อง

2. แนบหลักฐานที่ราชการแก้ไขประกอบหนังสือด้วย 

การเปลี่ยนอำนาจกรรมการจะต้องประชุมผู้ถือหุ้นหรือกรรมการ?

การเปลี่ยนอำนาจกรรมการจะต้องประชุมผู้ถือหุ้น เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัท จะกำหนดให้คณะกรรมการ เป็นผู้กำหนด อำนาจกรรมการได้

อยากทราบทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุด

บริษัทจำกัด ตามกฎหมาย (ป.พ.พ.) กำหนดมูลค่าหุ้นไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท ฉะนั้น ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุดของบริษัท คือ 15 บาท ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้แล้ว ห้างหุ้นส่วน กฎหมายไม่ได้กำหนดทุนขั้นต่ำไว้

วัตถุที่ประสงค์จะพิมพ์ขึ้นมาเอง โดยไม่ใช้วัตถุที่ประสงค์สำเร็จรูปของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้หรือไม่?

“ได้” โดยให้พิมพ์ลงในแบบ ว. (สีขาว) ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่นายทะเบียนจัดพิมพ์ขึ้น

กรรมการลาออกและจะแต่งตั้งกรรมการใหม่แทน จะต้องประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้น?

1. ถ้ากรรมการลาออกก่อนครบกำหนดวาระการเป็นกรรมการและบริษัทต้องการจะแต่งตั้งกรรมการ ใหม่แทน จะประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้นก็ได้

2. ถ้ากรรมการลาออกเมื่อครบกำหนดวาระการเป็นกรรมการและบริษัทต้องการแต่งตั้งกรรมการ ใหม่แทน ต้องประชุมผู้ถือหุ้น 

เมื่อย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนชื่อร้าน หรือมีการเปลี่ยนแปลงรายการ ตามที่จดทะเบียนไว้จะต้องทำอย่างไร?

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายการใดก็ตาม ที่จดทะเบียนไว้ จะต้องยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยนำใบสำคัญการจดทะเบียนพาณิชย์ฉบับเดิมมาด้วย

ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้หรือไม่?

ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้ ต้องปรากฏว่า

1. มีอายุไม่น้อยกว่า 12 ปี

2. ได้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบด้วยตนเอง

จดทะเบียนว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว จะขอเปลี่ยนเป็นชำระ 25% ได้หรือไม่?

เอกสารในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทเป็นเอกสารมหาชน เมื่อนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนแล้วจึงไม่สามารถจะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดนั้นได้ ดังนั้นในการจดทะเบียนแต่ละครั้ง ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ถูกต้องและตรงตามความจริงทุกครั้งก่อนยื่นจดทะเบียน และขอเตือนว่าอย่าได้ลงชื่อในคำขอจดทะเบียนโดยยังไม่มีการกรอกรายละเอียดเด็ดขาด

กรรมการบริษัทจะต้องมีกี่คน?

1. กรณีที่บริษัทได้กำหนดจำนวนของกรรมการไว้ในข้อบังคับของบริษัท การแต่งตั้งกรรมการก็ต้อง เป็นไปตามจำนวนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

2. กรณีที่บริษัทไม่ได้กำหนดจำนวนกรรมการไว้ในข้อบังคับของบริษัท การแต่งตั้งกรรมการเป็นไปตามมติ ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะกำหนดว่ากรรมการของบริษัทจะมีกี่คน

ใครจะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมบริษัท?

คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมบริษัททุกประเภท ต้องลงชื่อโดยกรรมการตามอำนาจที่ได้จดทะเบียนไว้เดิม

การจดทะเบียนพาณิชย์ ให้บุคคลอื่นมาจดให้ได้หรือไม่?

ได้ แต่ผู้ประกอบพาณิชยกิจจะต้องลงลายมือในคำขอ และนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ซึ่งผู้ประกอบการพาณิชยกิจได้ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว พร้อมด้วยหนังสือมอบอำนาจ แนบคำขอจดทะเบียนมาด้วย

ชื่อของห้างหุ้นส่วนและบริษัทจะซ้ำกันได้หรือไม่?

ชื่อของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดจะต้องไม่ซ้ำหรือมีเสียงเรียกขานตรงกันกับชื่อของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้แล้ว

หลักเกณฑ์การควบบริษัท

1. บริษัทจะควบเข้ากันได้ โดยแต่ละบริษัทเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีมติพิเศษให้ควบบริษัท

2. ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะต้องใช้หนี้หรือได้ให้ประกัน เพื่อหนี้รายนั้นก่อนจึงจะควบ เข้ากันได้

3. จำนวนทุนและหุ้นของบริษัทใหม่นั้น ต้องเท่ากับยอดรวมจำนวนทุนและหุ้นของบริษัทเดิม ที่มาจะควบเข้ากัน

4. สิทธิและความรับผิดของแต่ละบริษัทเดิมที่ได้มาควบบริษัทกัน ย่อมเป็นสิทธิและความรับผิด ของบริษัทใหม่ 

กรรมการตายต้องทำอย่างไร?

 ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมการออกจากตำแหน่ง หากกรรมการที่ตายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ให้จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจกรรมการด้วย

เมื่อใบสำคัญการจดทะเบียนทะเบียนพาณิชย์ชำรุด หรือสูญหายจะทำอย่างไร?

ให้ขอใบแทนใบสำคัญการจดทะเบียนพาณิชย์ โดยนำใบทะเบียนพาณิชย์ที่ชำรุด หรือใบแจ้งความในกรณีที่ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายมาคืนด้วย

หลักเกณฑ์การเพิ่มทุนของบริษัท?

1. การเพิ่มทุนบริษัทจำกัดต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ให้เพิ่มทุน

2. บริษัทจำกัดเพิ่มทุนได้ด้วยการออกหุ้นใหม่

3. หุ้นของบริษัทจำกัดที่ออกใหม่ ถ้าจะชำระด้วยสิ่งอื่นนอกจากตัวเงิน ต้องมีมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

4. หุ้นของบริษัทจำกัดที่ออกใหม่นั้น จะขายให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้ 

เมื่อจดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจแล้ว ต่อมาจะเปิดร้านทำการค้าใหม่จะทำได้หรือไม่?

ได้ โดยต้องมาจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เปิดร้านทำการค้าใหม่

ชื่อที่จองได้แล้ว จะใช้ได้กี่วัน?

ชื่อที่นายทะเบียนตรวจสอบ และมีคำสั่งอนุญาตให้จองได้ ผู้ขอจดทะเบียนต้องยื่นขอจดทะเบียนให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต

ผู้ประกอบการพาณิชยกิจคนเดียวจะมีร้านหลายร้านได้หรือไม่?

ได้

ชื่อภาษาต่างประเทศจะขอใช้ได้หรือไม่?

“ได้” แต่ไม่รับจดทะเบียน

ใครเป็นผู้ยื่นขอจองชื่อ?

การจองชื่อนิติบุคคลให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้เริ่มก่อการหรือกรรมการ เป็นผู้จองชื่อ

- กรณียื่นคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนบริษัทพร้อมกันภายในวันเดียวกันจะให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้จองชื่อก็ได้

- กรณีจองชื่อนิติบุคคลเพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือกรรมการเป็นผู้จองชื่อ 

การขอจดทะเบียนพาณิชย์ จะต้องนำหลักฐานอะไรไปบ้าง?

การขอจดทะเบียนพาณิชย์กรณีเป็นบุคคลธรรมดาจะต้องใช้หลักฐาน ดังนี้ 
 
1. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ 
 
2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบพาณิชยกิจ 
 
3. กรณีผู้ประกอบพาณิชยกิจมิได้เป็นเจ้าบ้านต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้ 
 
(3.1) หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ 
 
(3.2) สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่าโดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้ความยินยอม 
 
(3.3) แผนที่แสดงสถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชยกิจ และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป 
 
4. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี) 
 
5. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี) 

หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อของบริษัท?

1. การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อของบริษัท ต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นให้แก้ไขชื่อได้

2. หากบริษัทได้จดทะเบียนดวงตราไว้และตรานั้นมีชื่อบริษัทอยู่ ต้องจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม ตราของบริษัทด้วย 

เมื่อเลิกประกอบพาณิชยกิจแล้ว ผู้ประกอบพาณิชยกิจควรทำอย่างไร?

ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องยื่นคำขอจดทะเบียนเลิก ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่เลิก โดยนำใบทะเบียนพาณิชย์มาคืนด้วย

ในขั้นตอนการจองชื่อไม่ได้ระบุชื่อภาษาต่างประเทศ หากต้องการใช้ภาษาต่างประเทศด้วยจะทำอย่างไร?

1. เข้าระบบจองชื่อ/จดทะเบียนนิติบุคคล

2. ยอมรับเงื่อนไขในการตรวจสอบและจองชื่อนิติบุคคล หากไม่ยอมรับเงื่อนไขก็ไม่สามารถเข้าระบบตรวจและจองชื่อนิติบุคคลได้

3. จองชื่อนิติบุคคลกรณีเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ 

ใบสำคัญการจดทะเบียนพาณิชย์จะใช้ได้ตลอดไปหรือไม่?

ใช้ได้ตลอดไป ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่จดทะเบียนไว้ หรือไม่ได้เลิกประกอบการค้า

ผู้ถือหุ้นของบริษัทเหลือไม่ถึง 3 คน จะได้หรือไม่?

ได้ แต่อาจเป็นเหตุให้ศาลสั่งให้เลิกบริษัท

จะจองชื่อนิติบุคคลได้ที่ใดบ้าง?

การยื่นจองชื่อนิติบุคคลสามารถยื่นผ่านทางระบบ internet ที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th

จำนวนชื่อที่ของจองได้?

การยื่นขอจองชื่อ สามารถขอจองได้ครั้งละ 1 ชื่อ

การส่งเสริมและพัฒนาด้านการตลาดสินค้าธุรกิจชุมชนและสินค้าหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์สามารถทําได้อย่างไร

แนวคําตอบ ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งเสริมและพัฒนาด้านการตลาดผลิตภัณฑ์หนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เช่น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดูแลรับผิดชอบ มีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เริ่มจากรับลงทะเบียนรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการพัฒนาเครือข่ายและองค์ความรู้ ด้วยการเน้นส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตพร้อมๆ กับเพิ่มศักยภาพกลุ่มอาชีพในแต่ละชุมชนโดยเน้นการบริหารจัดการและเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านการบริหารจัดการ การผลิต การตลาด และการจัดการทุนสิ่งสําคัญที่สุด ต้องเข้าใจเรื่องการตลาดนั้นคือการสร้างโอกาสทางการขาย เพื่อเพิ่มยอดขายและทําให้มีกําไรมากขึ้น รวมถึงแนวคิดเรื่องการสร้างแบรนด์และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอันจะเป็นการสร้างความภักดีจากลูกค้า โดยเฉพาะการบอกปากต่อปาก ซึ่งจะช่วยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้นการส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าชุมชนก็เช่นเดียวกัน จะต้องมองที่ความต้องการของลูกค้าเป็นสําคัญว่าลูกค้ามีความต้องการซื้ออะไร แบบไหน ความนิยมของลูกค้าเป็นอย่างไร แล้วจึงมาวางแผนการผลิตเพื่อสนองต่อความต้องการของลูกค้าจึงจะถือว่าเป็นการส่งเสริมพัฒนาตลาดสินค้าสมัยใหม่การตลาดสมัยใหม่ ต้องเน้นการบริการ และความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเริ่มมองจากภายนอกมา สู่ภายใน โดยพิจารณาประเด็นที่สําคัญๆ 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา
ไอเดีย แนวคิด กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองหรือไม่

กฎหมายจะไม่คุ้มครองถึงแนวความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ วิธีการใช้งาน หลักการ ของผลงานอันมีลิขสิทธิ์ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิด ไม่ว่าโดยวิธีหรือรูปแบบใด

ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

ความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง/ลูกจ้างเกิดขึ้นได้ 2 กรณี

(1) ถ้าผู้สร้างสรรค์สร้างงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น กฎหมายกำหนดให้ลิขสิทธิ์เป็นของผู้สร้างสรรค์ (ลูกจ้าง) แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ได้ตามวัตถุประสงค์ของการจ้างแรงงานนั้น
(2) ถ้าผู้สร้างสรรค์สร้างสรรค์งานโดยการรับจ้างจากบุคคลอื่น กฎหมายให้ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

ลิขสิทธิ์ คุ้มครองอะไรบ้าง

กฎหมายคุ้มครองงานสร้างสรรค์ 9 ประเภทข้างต้น ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดโดยเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว เช่น ในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตน เป็นต้น

การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษตามกฎหมายอย่างไร

การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษทางอาญาทั้งจำคุกและโทษปรับแล้วแต่กรณี และเจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย โทษทางอาญา เช่น การทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และหากทำเพื่อการค้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีจดเครื่องหมายการค้าในนามบุคคลธรรมดา หากประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเจ้าของสามารถทำได้หรือไม่

กรณีดังกล่าวสามารถทำได้โดยใช้วิธีการโอนเครื่องหมายการค้า โดยมียื่นคำขอโอนและแนบเอกสารหลักฐานดังนี้
1.ใช้แบบฟอร์มแบบคำขอโอน (ก.04)
2.สัญญาโอน (ก.17) ลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน
3.สำเนาบัตรประจำตัวพร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องของผู้รับโอน (ผู้ขอจดทะเบียน)
4.ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของผู้รับโอน
5.กรณีมีการมอบอำนาจใช้หนังสือมอบอำนาจ (ก.18) สำเนาบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจ

กรณีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทางอินเตอร์เน็ตและชำระเงินค่าธรรมเนียมแล้ว จะต้องทำอย่างไร

          1. จัดทำต้นฉบับคำขอจดทะเบียน (ก.01) โดยมีข้อมูลถูกต้องตรงกันกับข้อมูลที่ระบุในระบบจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต และลงลายมือชื่อเจ้าของหรือผู้รับมอบอำนาจ พร้อมติดรูปเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับที่ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ต
          2. สำเนาบัตรประจำตัวพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ฉบับ (กรณีขอจดทะเบียนในนามบุคคลธรรมดา) หรือ ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกินหกเดือน จำนวน 1 ฉบับ (กรณีขอจดทะเบียนในนามนิติบุคคล)
          3. สำเนาหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาทต่อผู้รับมอบอำนาจ 1 คน (พร้อมขีดฆ่าอากรฯ) และสำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ฉบับ (กรณีมีการมอบอำนาจ)
          4. ให้ส่งต้นฉบับคำขอจดทะเบียน (ก.01) ตามข้อ 1. พร้อมเอกสารประกอบคำขอตามข้อ 2 และข้อ 3 มายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายในกำหนดเวลา 15 วันนับถัดจากวันที่ได้มีการส่งข้อมูลเข้าระบบ ทั้งนี้ ท่านสามารถยื่นคำขอด้วยตนเองหรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมายัง นายทะเบียน สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ต) เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

สัญลักษณ์ ® และ TM. หมายถึงอะไร และใช้กรณีใดบ้าง

          สัญลักษณ์ ® ย่อมาจากคำว่า Registered หมายถึง การจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนแล้ว เมื่อนำมาใช้กับเครื่องหมายการค้า แสดงได้ว่าเครื่องหมายนั้นได้รับการจดทะเบียนแล้ว
          คำว่า TM. ย่อมาจากคำว่า Trademark หมายความว่า เครื่องหมายการค้า เมื่อนำไปใช้กับเครื่องหมาย หรือภาพ หรือคำใดแล้ว เป็นเพียงตัวอักษรที่แสดงให้เห็นว่า เครื่องหมาย หรือภาพ หรือคำดังกล่าวนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของตน ดังนั้น คำว่า TM. จึงสามารถใช้ได้กับทั้งเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วและที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน

ข้อถือสิทธิคืออะไร

ข้อถือสิทธิเป็นส่วนที่ผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ระบุถึงขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ต้องการได้รับความคุ้มครองข้อถือสิทธิ เป็นการระบุถึงส่วนของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอต้องการสงวนสิทธิมิให้คนอื่นแสดงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์
โดยหลักการทั่วไปแล้ว ขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ระบุในข้อถือสิทธิจะต้องไม่กว้างหรือเกินไปกว่าที่ผู้ขอได้ทำการประดิษฐ์นั้น และที่ได้เปิดเผยในรายละเอียดการประดิษฐ์ ดังนั้นหากผู้ขอต้องการขอถือสิทธิในลักษณะของส่วนของการประดิษฐ์ ก็จะต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะส่วนนั้นของการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ชัดแจ้ง และรัดกุม
ในรายละเอียดการประดิษฐ์ด้วยข้อถือสิทธิต้องระบุลักษณะของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอประสงค์จะขอรับควา มคุ้มครองโดยชัดแจ้ง รัดกุม และสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์ ถ้าข้อถือสิทธิไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คำขอนั้นอาจถูกปฏิเสธได้ หลักที่ว่าข้อถือสิทธิจะต้องสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้นส่วนที่ว่าข้อถือสิทธิจะต้องชัดแจ้งและรัดกุมนั้น พอสรุปได้ว่ามีอยู่ 2 ความหมายดังนี้
1.ลักษณะของถ้อยคำที่ใช้จะต้องชัดแจ้งและรัดกุม
ถ้อยคำที่ใช้จะต้องชัดเจน ห้ามใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือหรือมีความหมายเพื่อเลือกแบบกว้างๆ เช่น ระบุว่าส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการประดิษฐ์นั้น “ทำจากโลหะหรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน” ย่อมไม่ชัดเจน เพราะสิ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับโลหะมีมากมาย
2. ลักษณะของการแยกและจัดลำดับข้อถือสิทธิ
ความชัดแจ้งและรัดกุมของข้อถือสิทธิอาจเกิดขึ้นจากวิธีการแยกและการจัดลำดับข้อถือสิทธิ รวมทั้งการอ้างอิงถึงข้อถือสิทธิอื่นๆ ในคำขอเดียวกันนั้นด้วย การพิจารณาว่าควรแยกข้อถือสิทธิออกเป็นหลายข้อหรือควรมีข้อถือสิทธิเพียงข้อเดียวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะองค์ประกอบหรือโครงสร้างซับซ้อนหรือไม่เพียงใด ถ้าเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนก็ไม่ควรแยกข้อถือสิทธิเป็นหลายข้อ เพราะจะทำให้ขาดความชัดแจ้งและรัดกุม ในทางกลับกันถ้าเป็นการประดิษฐ์ที่ซับซ้อนมาก หากไม่แยกข้อถือสิทธิออกเป็นหลาย ๆ ข้อก็จะทำให้ขาดความชัดแจ้งและรัดกุมเช่นเดียวกัน
ข้อถือสิทธิที่ใช้ระบุถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นสาระสำคัญของการประดิษฐ์เรียกว่า “ข้อถือสิทธิหลัก” ส่วนข้อถือสิทธิที่ระลึกถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นลักษณะพิเศษหรือรายละเอียดปลีกย่อย เรียกว่า “ข้อถือสิทธิรอง” โดยทั่วไป การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรมักมีลักษณะที่ไม่ซับซ้อนมากจึงมักจะมีข้อถือสิทธิหลักเพียงข้อเดียวและมีข้อถือสิทธิรองอีก 2-3 ข้อ
ในกรณีที่ข้อถือสิทธิหลักเพียงข้อเดียวไม่สามารถคลุมถึงลักษณะทางเทคนิคของการประดิษฐ์ได้ทั้งหมด ผู้ขอจะระบุข้อถือสิทธิหลักหลายข้อสำหรับลักษณะของการประดิษฐ์ประเภทเดียวกันในคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ฉบับหนึ่งก็ได้ การอ้างถึงข้อถือสิทธิอื่นในข้อถือรองนั้น จะต้องอ้างในลักษณะที่เป็นทางเลือกเท่านั้น "ประกอบด้วยเครื่องเขย่าที่มีลักษณะพิเศษ….” แต่จะระบุว่า “6. กระถางตามข้อถือสิทธิข้อที่ 1 และ 2 ที่ซึ่งประกอบด้วยส่วนเก็บน้ำที่มีลักษณะพิเศษ” ไม่ได้

การดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

การดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

การยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องใช้เอกสารหลักฐานดังนี้
1.   ต้นฉบับคำขอจดทะเบียน (แบบ ก. 01)  พร้อมสำเนาคำขอจดทะเบียน จำนวน 5 ฉบับ (รวม 6 ฉบับ)
2.   รูปเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียน ขนาดไม่เกิน 5 X 5 เซนติเมตร จำนวน 5 รูป กรณีรูปเครื่องหมายเกินขนาดที่กำหนดต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มในส่วนที่เกิน เซนติเมตรละ 100 บาท
3.   บัตรประจำตัวของเจ้าของเครื่องหมาย
3.1 กรณีบุคคลธรรมดา ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นๆที่ทาง
ราชการออกให้ หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
3.2 กรณีนิติบุคคล ให้ใช้ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
3.4 กรณีมีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ใช้หนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท ต่อตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ 1 คน และสำเนาบัตรประจำตัวของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ หากการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในต่างประเทศ หนังสือตัวตัวแทนหรือมอบอำนาจจะต้องมีคำรับรองลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานฑูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้กระทำการแทน หรือมีคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้น ให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อ
4.  หลักฐานการใช้เครื่องหมายกรณีนำสืบลักษณะบ่งเฉพาะหรือหนังสือขอผ่อนผันการนำส่งหลักฐานดังกล่าว (ก. 19) (ถ้ามี)

การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องชำระค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีค่าธรรมเนียมดังนี้

          1. ค่าธรรมเนียมคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รายการสินค้า/บริการ อย่างละ 500 บาท ชำระพร้อมการยื่นคำขอจดทะเบียน

          2. ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รายการสินค้า/บริการ อย่างละ 300 บาท ชำระเมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนได้

กรณีต้องการตรวจสอบความก้าวหน้าของการพิจารณาคำขอจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตจะทำได้หรือไม่อย่างไร

การตรวจสอบความก้าวหน้าของการพิจารณาคำขอจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้ โดยสามารถค้นหาจากเลขที่คำขอ และชื่อเจ้าของเครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้กับกรมฯ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. เข้าเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th
2. เลือกบริการออนไลน์ เมนูระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
3. ใส่ User ID และ Password (กรณียังไม่เคยใช้บริการต้องเลือกสมัครสมาชิก)
4. คลิก”ตกลง”
5. เลือก ตรวจสอบสถานะคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
6. ใส่เลขที่คำขอ
7. คลิก “ค้นหา”

การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถยื่นได้ที่ใดบ้าง

การยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถกระทำได้ 5 ช่องทาง ดังนี้
         1. ยื่นคำขอด้วยตนเอง ต่อนายทะเบียน ณ กลุ่มบริการตรวจรับคำขอ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
         2. ยื่นคำขอด้วยตนเอง ณ. สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทุกจังหวัด
         3. ยื่นคำขอโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึงนายทะเบียน สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่อยู่ 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 พร้อมแนบเอกสารประกอบคำขอ และชำระค่าธรรมเนียมทางธนาณัติ (สั่งจ่ายนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า)
         4. ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ตกรมทรัพย์สินทางปัญญา (www.ipthailand.go.th) ซึ่งผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจะต้องส่งต้นฉบับคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้มีการบันทึกข้อมูลลงในอินเตอร์เน็ต โดยสามารถยื่นด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้
         5. ยื่นผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (สนามบินน้ำ) ชั้น 4 ทั้งนี้ต้องยื่นพร้อมกับการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในคราวเดียวกัน

กรณีต้องการทราบว่าสินค้าที่จะยื่นขอจดทะเบียนอยู่จำพวกใด สามารถค้นหาได้อย่างไรบ้าง

การสืบค้นรายการสินค้าสามารถดาวน์โหลดรายการสินค้าได้ที่ www.ipthailand.go.th เลือกทรัพย์สินทางปัญญาไทย เลือกระบบเครื่องหมายการค้า เลือกรายการสินค้าและบริการที่ยื่นขอจดทะเบียน และเลือกดาวน์โหลดรายการสินค้าและบริการ

เครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ถูกจำหน่ายไปแล้ว สามารถนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้หรือไม่

เครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ถูกจำหน่ายไปแล้วสามารถนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้ขอจดทะเบียนจะต้องตรวจสอบรายละเอียดของการพิจารณาถึงเหตุผลที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียน หากเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ หากท่านนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่อาจจะไม่ได้รับการจดทะเบียนเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ นอกจากนี้หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ถูกเพิกถอนทางทะเบียนเนื่องจากไม่มีการต่ออายุ หากท่านนำเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นมายื่นขอจดทะเบียน ท่านอาจถูกเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ หากว่าเจ้าของเดิมพิสูจน์ได้ว่ายังคงใช้เครื่องหมายการค้านั้นในการประกอบธุรกิจการค้ามาโดยตลอดแม้จะไม่ได้มีการต่ออายุ

คนไทยสามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศใดได้บ้าง

 เนื่องจากกฎหมายสิทธิบัตรไทยใช้หลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ ที่ยอมให้คนที่มีสัญชาติของประเทศอื่นยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทยได้ ดังนั้นคนไทยก็สามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศนั้นได้เช่นกัน เช่น สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ยุโรป, สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี, สาธารณรัฐเกาหลี ฯลฯ หากแต่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น การแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการแทนผู้ขอ เป็นต้น

เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถโอนงานลิขสิทธิ์ของตนเองให้แก่บุคคลอื่นได้หรือไม่ อย่างไร

เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถโอนงานลิขสิทธิ์ของตนเองให้แก่บุคคลอื่นได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และสามารถโอนโดยกำหนดระยะเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์
หากการโอนงานลิขสิทธิ์ดังกล่าวมิใช่ทางมรดกต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชี่อผู้โอนและผู้รับโอน ทั้งนี้ถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน ให้ถือว่าการโอนมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี

ลิขสิทธิ์ ต้องจดทะเบียนหรือไม่

ลิขสิทธิ์ เป็นสิทธิที่กฎหมายให้ความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องจดทะเบียน

งานลิขสิทธิ์ คืออะไร

งานลิขสิทธิ์มี 9 ประเภท ได้แก่ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ

งานรวบรวม และฐานข้อมูล มีลิขสิทธิ์หรือไม่

งานที่มีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกัน โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
ฐานข้อมูล (database) ซึ่งเป็นการนำเอาข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน โดยได้มีการคัดเลือกหรือจัดลำดับ ในลักษณะที่ไม่ได้ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
ผู้รวบรวม หรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงาน หรือข้อมูล หรือสิ่งอื่นใด ของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกนำมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน

หากได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ผู้ใดจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลง

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดว่าหากการดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง

หากได้รับหนังสือแจ้งให้ดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเวลา 90 วัน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน

หากได้รับหนังสือแจ้งให้ให้ดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในเวลา 90 วัน และผู้ขอไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลา ก็สามารถที่จะขอผ่อนผันการดำเนินการได้สองครั้งโดยครั้งแรกขอผ่อนผันได้อีก 90 วัน และครั้งที่สองขอผ่อนผันได้อีก 30 วันซึ่งต้องขอก่อนครบกำหนดเวลาในแต่ละครั้ง โดยทำเป็นหนังสือ ถึง ผู้อำนวยการสำนักสิทธิบัตร

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
จะชอบถามผู้เชี่ยวชาญการส่งออก ปลาสวยงาม

สวัสดีครับผมนักศึกษา ป.ตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผมกำลังทำปริญานิพนธ์เกี่ยวกับการส่งออกปลาสวยงามระหว่างประเทศครับ ผมจะต้องทำแบบสอบถามขึ้นมาเพื้อถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัจจัยว่า ปัจจัยที่ผมศึกษามาจะสำเร็จหรือไม่ในการส่งออกปลาสวยงาม ผมต้องทำเรื่องถึงกระทรวงอย่างไรบ้างครับ และพอจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้สะดวกให้ผมเข้าไปสอบถามหรือป่าง ขอบคุณครับ
--------------------------
ตามที่ คุณวิชุดา แสนเทศ ได้สอบถาม/ขอคำปรึกษาจากศูนย์บริการการค้าระหว่างประเทศ ในเรื่อง “ต้องการทราบข้อมูลการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำร็จรูป จากต่างประเทศที่มาขายในไทยตั้งแต่ ปี 2552-ปัจจุบัน เกี่ยวกับ มูลค่าการนำเข้า บริษัทผู้นำเข้าทั้งหมด สามารถหาข้อมูลได้จากที่ใดบ้าง ผ่านทาง ditpservicecenter@gmail.com ความละเอียดทราบแล้ว นั้น
ศูนย์บริการการค้าระหว่างประเทศ ได้พิจารณาข้อสอบถามดังกล่าวแล้ว จึงขอเรียนให้ทราบ ดังนี้
1. ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูล มูลค่าการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ของไทย ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ www.ditp.go.th เมนูสถิติการค้า และดูข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยตามโครงสร้างสินค้าสำคัญ ที่เมนู รายงานภาษาไทย (Menucom : Thai) หรือ รายงานภาษาอังกฤษ (Menucom : English) และดูข้อมูลสรุปการค้าระหว่างประเทศ ที่เมนู Import และคลิ๊กที่แหล่งนำเข้า n อันดับแรกของไทยรายสินค้า เลือกสินค้าเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ และกดแสดงรายงาน เพื่อดูข้อมูลการนำเข้า 20 อันดับแรกของไทยรายประเทศ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ 1
2. จากการสืบค้นข้อมูลการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย จากฐานข้อมูลของกรมฯ www.gtis.com/GTA ตามพิกัดศุลกากร 190230 (พาสต้า ทำให้สุก ไม่ยัดไส้หรือปรุงแต่งโดยวิธีอื่น) ที่มีมูลค่าการส่งออกตั้งแต่ปี 2552 – 2558 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ 2
3. ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลบริษัทผู้นำเข้าทั้งหมดของสินค้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย ได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ www.moc.go.th เมนู สถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย และคลิกที่ รายชื่อผู้ส่งออก-นำเข้า แต่ท่านผู้ประกอบการต้องสมัครสมาชิกของเว็บไซต์เพื่อขอรับ Username Password ในการสืบค้นข้อมูล และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่เมนู รายชื่อผู้นำเข้าจำแนกตามฮาร์โมไนซ์ หรือ จำแนกตามสินค้าสำคัญ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ 3
ทั้งนี้หาก ท่านผู้ประกอบการต้องการทราบข้อมูล/คำปรึกษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169 หรือ E-Mail: ditpservicecenter@gmail.com ค่ะ หรือพบเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาฯเพื่อปรึกษา/ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการฯ ทั้ง 2 แห่ง
1. ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถนนรัชดาภิเษก (ตรงข้ามศาลอาญา)
2. ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตึก 2 กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ
--------------------------

กรมการค้าต่างประเทศ
อยากสอบถามในเรื่องขั้นตอนการนำสินค้ากระเป๋าผ้าส่งออก

ผมเพิ่งเริ่มทำธุรกิจอยากจะทราบขั้นตอนในการทำกระเป๋าผ้าที่ทำจากใยธรรมชาติส่งออกจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ ผมเพิ่งเริ่มทำธุรกิจสามารถปรึกษาในหน่วยงานไหนได้บ้างครับ