"กระทรวงท่าเตียน" ที่สื่อมวลชนมักจะเรียกขานเมื่อกล่าวถึงกระทรวงพาณิชย์นั้นก็เพราะสถานที่ตั้งของกระทรวงพาณิชย์อยู่บริเวณท่าเตียน สมรภูมิของยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ตามตำนานที่คนไทยทราบกันดี แล้วทำไมกระทรวงพาณิชย์จึงมาอยู่ที่นี่... ในเรื่องนี้จากบันทึกของขุนวิจิตรมาตรา (ส่ง กาญจนาคพันธ์) กล่าวไว้ว่าเมื่อแรกเริ่มตั้งกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นเจ้ากระทรวงหรือเสนาบดีมักจะใช้บ้านของตัวเองเป็นสถานที่ทำการของกระทรวงแต่กระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ยังไม่มีกระทรวงเป็นของตัวเองก่อนหน้านั้นจึงได้ก่อตั้งอาคารขึ้นใหม่ตามประวัติที่ขุวิจิตรมาตราสืบค้นไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ดังนี้ ตึกที่ว่าการกระทรวงพาณิชย์ (เศรษฐการ) สร้างขึ้นในที่ดินแปลงหนึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงมีถนนสามสายผ่านรายรอบทั้งสามด้านคือถนนเขตต์ถนนสนามไชย และถนนมหาราชแต่เดิมนั้นที่ดินบริเวณนี้และพื้นที่รอบๆเป็นที่ตั้งของวังต่างๆ เช่น วังกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช วังพระองค์เจ้างอนรถ วังพระองค์เจ้าเปียก วังกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ วังกรมหมื่นอมเรนทร์บดินทร์ วังพระองค์เจ้าลำยอง วังกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ วังกรมหมื่นภูมินทร์ภักดี เป็นต้น |
ซึ่งบริเวณของตึกที่ทำการกระทรวงพาณิชย์นั้นเป็นพื้นที่ของวัง ๓ แห่ง คือ วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดชวังกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณและวังกรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติตัวตึกกระทรวงพาณิชย์สร้างเป็นสามชั้นโอ่โถงงดงามฝีมือทำอย่างประณีตมีลวดลายเป็นฝรั่งกลายๆจัดว่าเป็นตึกสมัยใหม่แปลกกว่าที่ทำการอื่นๆชั้นล่างตอนหนึ่งสร้างเฉพาะสำหรับให้เป็นสำนักงานกลางมาตราชั่งตวงวัด โดยตรง ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วได้ขนเอาแบบมาตรา (Standard) เครื่องชั่ง ตวง วัด จากกระทรวงเกษตราธิการมาติดตั้งเป็นหลักสำคัญของกระทรวงที่ว่าด้วยการค้าขายมาจนถึงทุกวันนี้ |
สัญลักษณ์หรือตราประจำกระทรวงในสมัยนั้น มีวิวัฒนาการน่าสนใจว่า ในสมัยกระทรวงเกษตรพาณิชยการสมัยแรกเสนาบดีถือตราพระพิรุณทรงนาค พระพิรุณเป็นเทวดาเจ้าน้ำ เป็นผู้บันดาลให้ฝนตกนาคก็เกี่ยวกับน้ำตราพระพิรุณทรงนาคจึงเกี่ยวกับกสิกรรมทำไร่ไถนาซึ่งเป็นของสำคัญมาแต่โบราณโดยตรงเมื่อตั้งเป็นกระทรวงพาณิชย์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีประกาศให้กระทรวงพาณิชย์ ใช้ตราเป็นรูปตุ้ม เครื่องชั่งทะนาน และไม้วัด ผูกกันเป็นลาย ตรานี้จึงเป็นความหมายเกี่ยวกับการพาณิชย์สอดคล้องต้องกันกับประวัติของกระทรวงและตัวตึกที่ว่าการดังบรรยายมาแต่ต้นในคราวเดียวกันนี้ประกาศให้กระทรวงพาณิชย์ใช้สีมอคราม เป็นสีเครื่องหมายกระทรวง ต่อมาเมื่อรวมกระทรวงพาณิชย์เข้ากับกระทรวงคมนาคม เรียกว่า "กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม" ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ มีประกาศให้ใช้ ตรารูปพระวิศุกรรมเป็นตรากระทรวง สีเครื่องหมายกระทรวงเปลี่ยนเป็นสีเลือดหมู ตราพระวิศุกรรมเป็นตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเดิม ซึ่งภายหลัง เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงคมนาคม และใช้ตราพระรามทรงรถ เมื่อเอางานคมนาคมมารวมเข้ากับงานพาณิชย์และถือว่างานพาณิชย์เป็นงานสำคัญ จึงกลับไปใช้ตราพระวิศุกรรมพระวิศุกรรมเป็นเทวดาชำนาญในการช่างตลอดจนการก่อสร้างที่มาเป็นตรากระทรวงพาณิชย์ก็เนื่องจากเป็นตราเก่าและงานของโยธาก็คลี่คลายมาเกี่ยวข้องกับงานพาณิชย์เป็นลำดับมาในปัจจุบันตราประจำกระทรวงคงเป็นตราพระวิศุกรรมแต่สีเครื่องหมายกระทรวงเปลี่ยนไปใช้สีมอครามตามเดิมที่บานประตูเหล็กใหญ่ของตัวกระทรวงมีแผ่นโลหะกรมเป็นตราภาพงูสองตัวพันไม้ไขว้กัน ตอนบนมีปีกสองข้างติดอยู่ทั้งสองบานเป็นคู่กันเข้าใจว่าตรานั้นเป็นไม้เท้ากายสิทธิ์ที่เรียกว่า คาดิวซุส (Caduceus) ซึ่งเป็นไม้ถือของเทวดากรีกมีนามว่า เฮอเมส (Hermes) และชาวโรมันเรียกว่าเมอคิวริอุส(Mercurius) ตามประวัติข้างกรีกมีว่า เฮอเมสเป็นโอรสจองเซอุสมหาเทพเป็นช่างเทวดาเฉลียวฉลาดในเชิงประดิษฐ์ต่างๆ เช่นประดิษฐ์พิณ ประดิษฐ์ตัวอักษร ตัวเลข และที่สำคัญก็คือ ประดิษฐ์เครื่องชั่ง ตวง วัด เฮอเมสเป็นที่เคารพบูชาของพ่อค้าวาณิชทั่วไป |
ส่วนชาวโรมันนับถือว่าเป็นเทวดาแห่งการพาณิชย์และการคมนาคม เมื่อที่บานประตูเหล็กมีตราเครื่องหมายของเมอคิวริอุส หรือเฮอเมส ซึ่งเป็นเทวดาแห่งการค้าขายติดอยู่คู่กัน ก็แสดงว่าตึกนี้สร้างสำหรับเป็นที่ว่าการกระทรวงพาณิชย์ถูกตรงตามตำนานโดยแท้ สังเกตจากดวงตราที่บานประตูเหล็กกับรูปร่างลักษณะของตัวตึกกระทรวงพาณิชย์รู้สึกว่ามีอะไรๆ เป็นฝรั่งอยู่มากถ้าคิดก็น่าจะเป็นด้วยกระทรวงพาณิชย์จัดเป็นกระทรวงใหม่เอี่ยม รูปงานเป็นสมัยใหม่ไปข้างฝรั่ง เพราะมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมาก เนื่องจากสัมพันธ์กันในทางค้าขายอันได้เป็นมานานแล้วในสมัยกรมท่าซ้ายกรมท่าขวาโน้น ตึกกระทรวงพาณิชย์เริ่มเปิดทำงานในปีพ.ศ.๒๔๖๕ เป็นอันว่าตำนานกระทรวงพาณิชย์ตามการสืบค้นของขุนวิจิตรมาตราก็มีเพียงเท่านี้ | |
อนึ่งสถาปัตกรรมที่ปรากฏในตัวอาคารของกระทรวงพาณิชย์นั้นเป็นฝีมือการออกแบบของสถาปนิกชาวอิตาเลียน ชื่อ มาริโอ ตามาญโญ ซึ่งเดินทางเข้ามา ทำงานในประเทศสยามตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๔๓ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทำงานออกแบบสถานที่สำคัญๆ มากมายในกรุงเทพฯ ร่วมกับสถาปนิก คนอื่นๆ เช่น พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งดุสิต วัดเบญจมบพิตร สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาริโอ ตามาญโญก็ได้ออกแบบ บ้านนรสิงห์ บ้านพิษณุโลก สนามแข่งม้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำหรับงานปูนปั้นหรืองานหล่อที่ปรากฏให้เห็นลวดลายอันงดงามในตัวกระทรวงพาณิชย์นั้น เป็นฝีมือการออกแบบของวิตโตริโอ โนวี นายช่างเอกจากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ผู้สลักเสลาความงดงามตามอาคารต่างๆ แทบทุกโครงการที่สร้างขึ้นในรัชการที่ ๕ และรัชการที่ ๖ เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น | |
ครั้นสภาพบ้านเมืองเจริญขึ้น รัฐบาลเริ่มมีนโยบายขยับขยายหน่วยงานราชการออกไปยังชานเมืองมากขึ้นเพื่อลดปัญหาความแออัดของตัวเมืองภายในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ อาคารกระทรวงที่รับใช้การพาณิชย์ไทยมานานกว่า ๗๐ ปี ก็เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่อาคารใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ คณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๒ อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ใช้ที่ดินราชพัสดุจำนวนเนื้อที่ ๔๘ ไร่เศษ บริเวณตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สำหรับก่อสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงพาณิชย์แห่งใหม่ ซึ่งก็คือกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน โดยได้วางโครงการก่อสร้างแบ่งเป็น ๒ ระยะ ว่าจ้างสำนักบริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแบบก่อสร้าง และกรมโยธาธิการเป็นผู้ควบคุม | |
กระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบันผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ได้วางแนวทางการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานกับกระทรวงให้ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด เพราะที่ทำการกระทรวงจะรวมเอาหน่วยงานสำคัญๆ มาไว้รวมกันหมด เพื่อบริการแบบครบวงจรให้กับประชาชน พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะอำนวยความสะดวกการติดต่องานทุกอย่าง และการคมนาคมยังกระทรวงพาณิชย์ก็ทำได้ทั้งทางบนบกและทางน้ำ ซึ่งกระทรวงนี้จะรองรับการขยายตัวในอนาคตอีกไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าสถานที่ทำการกระทรวงพาณิชย์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตลอดระยะ ๘๐ ปีที่ผ่านมาภารกิจของกระทรวงก็ยังคงมุ่งหน้าให้บริการคุ้มครองผู้บริโภค ช่วยเหลือเกษตรกร ส่งเสริมการส่งออก และปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ เพื่อให้ "พาณิชย์ก้าวไกล ประเทศไทยก้าวหน้า" ต่อไป |