วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงลิมา ศูนย์ประชุมลิม่าคอนเวชั่นเซ็นเตอร์ เวลา 09.00 น. (เวลาท้องถิ่นเปรู) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี 2567 หรือ APEC Ministerial Meeting (AMM) 2024 ณ ศูนย์การประชุม Lima ห้อง Naciones 2 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู
นายพิชัย เปิดเผยว่า “สาธารณรัฐเปรูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ครั้งที่ 35 ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกเอเปค ภายใต้หัวข้อหลัก “เสริมสร้าง. ครอบคลุม. เติบโต.” ที่เน้นหารือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ครอบคลุม เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจนอกระบบมาสู่เศรษฐกิจที่เป็นทางการ โดยในที่ประชุมไทยได้แสดงวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันภายใต้หัวข้อดังกล่าว"
โดยในที่ประชุม ตนได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ ในวาระที่ 3 “การค้าและการลงทุนเพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกัน” โดยมีสรุปสาระสำคัญได้ว่า WTO สามารถมีบทบาทร่วมกับองค์การระหว่างประเทศในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี เพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน ผ่านการออกมาตรการทางการค้าที่เหมาะสมโดยไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาวาระงานเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTA) โดยสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจเอเปคใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาต่าง ๆ ของเอเปคเพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงระดับขีดความสามารถที่แตกต่างกันด้วย อนึ่ง ตนยังนำเสนอนโยบายของไทยที่พัฒนาการค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดและเชื่อมต่อกัน เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากที่ครอบคลุม เชื่อมโยงกัน และยั่งยืน
นายพิชัย เสริมว่า "ในการประชุมดังกล่าว ผมได้มีโอกาสพบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้าจากสมาชิกเอเปคต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เปรูชิลี ญี่ปุ่น แคนาดา และจีนฮ่องกง โดยในภาพรวม ได้หารือแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่ไทยและเขตเศรษฐกิจได้รับประโยชน์ร่วมกัน เช่น การร่วมกันส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออกผ่านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายด้าน 'ซอฟต์พาวเวอร์' ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ การผลักดันและการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้น เป็นต้น"
เอเปคประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกว่าร้อยละ 38 ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่าร้อยละ 61 และมีมูลค่าการค้าสินค้าและบริการรวมกว่าร้อยละ 47 ของโลกนอกจากนี้ สำหรับไทยกับเอเปคมีมูลค่าการค้ากว่า 14.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.33 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย
เอเปคเป็นเวทีสำหรับหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่สมาชิกเอเปคสนใจร่วมกัน เพื่อส่งเสริมระบบการค้าในระดับพหุภาคี สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความท้าทาย/ประเด็นทางการค้าใหม่ เช่น ประเด็นด้านดิจิทัลและการสร้างความเชื่อมโยงเพื่อสร้างพื้นที่ในการทำงานร่วมกันด้านเศรษฐกิจการค้า การค้าที่ครอบคลุม ความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมพลังทางเศรษฐกิจให้แก่สตรีและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งรวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืน เอเปคหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2567 การค้าของไทยกับเอเปคมีมูลค่า 11.4 ล้านล้านบาท (318.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นการส่งออกไปเอเปค 5.6 ล้านล้านบาท (156.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และการนำเข้าจากเอเปค 5.8 ล้านล้านบาท (161.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)