รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชิญห้างท้องถิ่นต้นแบบ 70 ราย ทั่วไทย เข้าร่วมแบ่งปันความเห็น และแนวทางการส่งเสริมที่ต้องการได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับมุมมองใน 3 มิติคือ การพัฒนาผู้ประกอบการห้างท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง, การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการและพันธมิตร และการรวมกลุ่มของห้างท้องถิ่นเพื่อทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ในการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยกระทรวงพาณิชย์จะรับลูกและปรับรูปแบบการสนับสนุนเพื่อให้สอดรับกับความต้องการ ทั้งนี้ ยังได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ห้างท้องถิ่นที่ผ่านการพัฒนาในปี 2567 สร้างกำลังใจให้พัฒนาไม่หยุด และพาผู้ประกอบลงพื้นที่ดูงานการบริหารวัตถุดิบและอาหารสดจากมืออาชีพตัวจริง ณ ท็อปส์ (Tops) สาขาเซ็นทรัลเวสต์เกต เพื่อเอามาปรับใช้ในธุรกิจต่อไป
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ณ ห้องมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า ในวันนี้ (13 พฤศจิกายน 2567) กระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชิญผู้ประกอบการ ‘ห้างท้องถิ่น’ ที่ผ่านการพัฒนาและยกระดับจากกรมฯ หรือ “ห้างท้องถิ่นต้นแบบ” จากทั่วประเทศ จำนวน 70 ราย ครอบคลุม 4 ภูมิภาค (เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และภาคใต้) เข้าร่วมการประชุมฯ แลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์การทำธุรกิจเพราะเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ย่อมมองเห็นปัญหา อุปสรรค และโอกาสที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นอย่างแท้จริง มากไปกว่านั้นจะได้รับฟังความคิดเห็นและความต้องการในการส่งเสริมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกให้เข้มแข็งจากหน่วยภาครัฐ ซึ่งจะทำให้พัฒนาได้อย่างตรงจุด
รมช. พณ. กล่าวต่อว่า “ในวันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้รับทราบความคิดเห็นจากทั้งมุมมองของสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และผู้ประกอบการห้างท้องถิ่น ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก คือ พัฒนาผู้ประกอบการห้างท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น การอบรมให้ความรู้การทำธุรกิจ และการสนับสนุนเทคโนโลยีบริหารจัดการ ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้พัฒนาทักษะองค์ความรู้ผู้ประกอบการอยู่เสมอ หลายหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์มีหลักสูตรออนไลน์ที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย บริการคลังความรู้เพื่อการทำธุรกิจ และแพลตฟอร์ม DBD SMEs 360 ที่รวบรวมบริการด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้บริการด้วยต้นทุนที่ถูกลง รวมทั้งมีกิจกรรมโครงการที่บ่มเพาะผู้ประกอบการห้างท้องถิ่นผ่านการให้คำปรึกษาเชิงลึก ณ สถานประกอบการ เพื่อพัฒนาให้เป็นห้างท้องถิ่นต้นแบบที่มีการบริหารจัดการธุรกิจที่ได้มาตรฐานและมีความสามารถในการแข่งขัน
ประเด็นที่สอง เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการและพันธมิตร เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ประกอบการห้างท้องถิ่นที่ผ่านการพัฒนา รวมถึงเชื่อมโยงไปยังร้านค้าปลีก (โชห่วย) ในพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายในท้องถิ่นที่เข้มแข็ง กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจที่เกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อสร้างธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเข้มแข็งทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนห้างท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ “พี่เลี้ยงโชห่วย” ช่วยพัฒนาร้านค้าโชห่วยในพื้นที่ให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” ที่มีภาพลักษณ์ร้านค้าที่ดีและมีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า การพาผู้ประกอบการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เกิดแนวคิดมุมมองใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ และยังได้เน้นย้ำให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับห้างท้องถิ่นในการสนับสนุนสินค้าชุมชนให้มีพื้นที่จำหน่ายในห้างท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจัด “ตลาดพาณิชย์” ทั่วประเทศที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วนรวมถึงห้างท้องถิ่นเพื่อเพิ่มช่องทางการขายและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ และผู้บริโภคในพื้นที่
ประเด็นสุดท้าย คือ การรวมกลุ่มของห้างท้องถิ่นเพื่อทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ในการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนสินค้า ขณะที่ซัพพลายเออร์ก็สามารถขายสินค้าได้ในปริมาณมากขึ้น เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างห้างท้องถิ่นกับซัพพลายเออร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ลดค่าครองชีพของประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยกรมฯ มีแผนรายปีร่วมกับห้างท้องถิ่นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ พร้อมกับการสัมมนาสมาร์ทโชห่วยใน 4 ภูมิภาค รวมทั้งกิจกรรม Local Low Cost ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของห้างท้องถิ่นกว่า 90 ราย ร่วมกันจัดกิจกรรมลดราคาสินค้าพร้อมกันทั่วประเทศในอนาคตด้วย
รมช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังการประชุมยังมีกิจกรรมมอบเกียรติบัตรให้แก่ห้างท้องถิ่นที่ผ่านการพัฒนาในปี 2567 ท่ามกลางสักขีพยานที่เป็นรุ่นพี่ห้างท้องถิ่นต้นแบบที่ร่วมมาแสดงความยินดีและพร้อมจะแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาธุรกิจไปด้วยกัน รวมทั้งมีการจัดแสดงบูธ Show Case ประกอบด้วย การขยายธุรกิจด้วยโมเดลร้านค้าโชห่วยค้าส่งท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยรักษาและเพิ่มฐานลูกค้าที่เป็นร้านค้าโชห่วยในระยะยาว การผลิตสินค้าภายใต้ตราสัญลักษณ์ของตนเอง (House Brand) เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มสัดส่วนกำไรให้กับกิจการ รวมทั้งการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงด้วยการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีห้างท้องถิ่นที่สามารถพัฒนาไปสู่บริษัทมหาชนได้แล้ว จำนวน 3 ราย Show Case เหล่านี้จะช่วยจุดประกายความคิดให้ห้างท้องถิ่นต้นแบบไม่หยุดอยู่กับที่และยกระดับธุรกิจให้มั่นคงยิ่งขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 รมช. ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพาคณะผู้ประกอบการห้างท้องถิ่น เข้าศึกษาดูงาน ณ ท็อปส์ (Tops) สาขาเซ็นทรัลเวสต์เกต ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดในการดำเนินธุรกิจเรื่องการบริหารจัดการวัตถุดิบ อาหารสด อาหารพร้อมทาน และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการบริหารจัดการคำสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงไปยังคลังสินค้าและระบบโลจิสติกส์ การศึกษาดูงาน ณ Tops ในครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการห้างท้องถิ่นซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่แล้ว สามารถต่อยอดแนวคิดการทำธุรกิจโดยนำเอาวัตถุดิบและอาหารสด ฯลฯ มาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากความหลากหลายของสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มสัดส่วนกำไรให้กับกิจการในระยะยาว
ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจค้าปลีกของประเทศไทยอยู่ที่ 3.64 ล้านล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล มีจำนวน 22,935 ราย (ที่มา: รายงานผลการศึกษาจุดแข็ง-จุดอ่อนของห้างท้องถิ่นไทยโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เดือนสิงหาคม 2567 และ DBD datawarehouse+ เดือนกันยายน 2567) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการห้างท้องถิ่นที่สนใจสมัครเข้ารับการพัฒนาสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการ “พัฒนาห้างท้องถิ่นต้นแบบ” ได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ Facebook Page สมาร์ทโชห่วย หรือ โทร. 02 547 5986 กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย