นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมพาณิชย์กางแผน quick win
100 วัน และแผน 1 ปี เร่งผลักดันการส่งออกและการค้าชายแดน เผยที่ผ่านมา DITP จัดกิจกรรมไปแล้ว
73 กิจกรรม สร้างมูลค่าแล้ว 11,424.75 ล้านบาท ปีหน้าเตรียมอัดแคมเปญกว่า 417 กิจกรรมดันส่งออก
คาดสร้างรายได้กว่า 65,700 ล้านบาท พร้อมจับมือ ททท. และการบินไทย ดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยว สร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยสู่เวทีโลก
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หารือกับภาคเอกชน เพื่อร่วมจัดทําแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน Quick Win 100 วัน และ 1 ปี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้จัดงาน “Next Step Export and Cross-Border Promotion” ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) การประชุมหารือแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน Quick Win 100 วัน และ 1 ปี และ (2) พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือในการเชื่อมโยงการค้ากับการท่องเที่ยว ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย และ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)
สำหรับแผนเร่งรัดการส่งออก ได้ดำเนินงานใน 5 ด้านหลัก ได้แก่
1.เปิดประตูโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ศักยภาพ ควบคู่ การรักษาตลาดเดิม โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA ขยายการค้าไปยังเมืองรอง แผน 100 วัน ได้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อรวมกันแล้วกว่า 490 ล้านบาท จากการผลักดันสินค้าไทยไปจัดแสดง ณ งาน CAEXPO ในหนานหนิงและงาน CIIE ในเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในระบบ E-visa ของประเทศซาอุดิอาราเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยแผน 1 ปี จะมีกิจกรรม Goodwill จำนวน 24 กิจกรรม กิจกรรมเปิดตลาดเชิงรุก มี Trade Mission 17 กิจกรรม ในประเทศมัลดีฟส์ อาเซียน ยุโรป UK รัสเซีย งานแสดงสินค้าไทย 12 กิจกรรม ในจีน อินเดีย
ศรีลังกา ปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงการขยายการค้าไปยังเมืองรอง
6 กิจกรรม โดยจัดทำ MOU กับเมืองรองเพิ่ม อาทิ แอฟริกา (โจฮันเนสเบิร์ก/โมซัมบิก) จีน (กว่างซีจ้วง/เจ้อเจียง/ ซานซี/เฮยหลงเจียง/ฝูเจี้ยน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ “การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน” และต่อยอด MOU ที่ลงนามแล้ว รวมไปถึงการขยายช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การเจาะธุรกิจ Horeca ในยุโรปและเร่งสรุปผลการเจรจา FTA กับคู่เจรจาต่างๆ
2.“ทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก”บูรณาการทำงานกับพาณิชย์จังหวัด ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าท้องถิ่น สู่ตลาดโลก โดยได้มอบนโยบายต่อทูตพาณิชย์ในการเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การค้นหา Influencer ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมากเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย และใช้ร้านอาหาร Thai Select เป็นเสมือนที่จัดแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยและช่องทางส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย รวมทั้งบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทัพหน้าของไทยในต่างแดน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ BOI เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยในวันที่ 23 พ.ย. 2566 นี้ ท่านนายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงานให้กับทูตทั่วโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับแผน 1 ปีจะดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ในประเทศประจำการเขตอาณาและเพิ่มบทบาททูตพาณิชย์ ให้เป็นคู่คิดของผู้ประกอบการ SMEs “พาณิชย์คู่คิด SMEs” เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น
3. ส่งเสริม SOFT POWER เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า/บริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และส่งเสริมสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล คอนเทนต์ มวลไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุดจากการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่า 5,318.05 ล้านบาท และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างรายได้กว่า 2,620.13 ล้านบาท และระหว่างเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ จะจัดงาน Muay Thai Global Power ณ ไอคอนสยาม การร่วมงาน Asia TV Forum and Market ที่สิงคโปร์ รวมทั้งในวันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน
สำหรับแผน 1 ปี จะมีการเปิดตัว SOFT POWER Global Brand จำนวน 9 กิจกรรม ทั้งในส่วนของการ re-branding Thai select , เครื่องหมาย Thailand Trust mark, Demark เป็นต้น การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ 19 กิจกรรม กลุ่มสินค้าอาหาร 76 กิจกรรม หนังสือ 2 กิจกรรม และสนับสนุนนักออกแบบไทยผ่านโครงการต่างๆ
4.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับบทบาทเป็น “รัฐสนับสนุน” โดยแผน quick win 100 วันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ พ.ศ.2537 การปรับปรุงเว็บไซต์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การหารือกับภาคเอกชนร่วม ยกร่างแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน quick win 100 วัน และ 1 ปี ซึ่งในแผน 1 ปี จะเดินหน้าทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้า โดยต่อยอดคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์
5. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยแผน quick win 100 วันที่จะดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566 – 2570) การจัดเจรจาการค้าธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตร อาทิ Shopee ในมาเลเซีย และRakuten ในญี่ปุ่น การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อาทิ การสัมมนาเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญาผู้ส่งออกไทย และการเสวนา export 5 F รวมทั้งการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาทิ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ Automechanika ที่ยูเออี งาน APPEX ที่สหรัฐฯ และงาน Medica ที่เยอรมนี ส่วนกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว อาทิ การจัด Virtual Showroom และ Online Business Matching ในสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารกลุ่ม BCG สร้างมูลค่า 5.30 ล้านบาท และงานแสดงสินค้า AUTOMECHANIKA DUBAI 2023 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 30 ราย มูลค่าการสั่งซื้อ 2,991.27 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในปีนี้ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กว่า 300 กิจกรรม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 8 กิจกรรม เช่น การตั้งร้าน Top Thai บน Amazon ของอังกฤษ การขยายความร่วมมือกับ LetsTango.com ในยูเออี การส่งเสริมการขายกับแฟลตฟอร์มพันธมิตร การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 14 กิจกรรม โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 108 กิจกรรม โดยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยและการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 177 กิจกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านการค้าระหว่างประเทศต่อไป
ด้าน นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการเชื่อมโยงการค้ากับการท่องเที่ยว ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าแนวทางการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และขยายช่องทางการค้าและส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการสื่อสารภาพลักษณ์ประเทศไทย ด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย
กิจกรรมสำคัญ อาทิ การร่วมกันจัดทำแคมเปญสื่อสารการตลาด เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศไทย ทั้งในด้านสินค้าและบริการ รวมถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของแต่ละฝ่าย ในกลุ่มสินค้าและธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ ไปจนถึงสินค้าภายใต้ร้าน TOPTHAI บนแพลตฟอร์มพันธมิตร และผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้มีโอกาสได้นำเสนอในสื่อประชาสัมพันธ์และช่องทางจำหน่ายของร้าน THAIShop ของการบินไทย
ในด้านการประชาสัมพันธ์ จะแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ด้านการค้าและมาตรฐานสินค้าไทยของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อาทิ PM’s Export Award, DEmark, Thailand Trust Mark, Thai SELECT ผ่านสื่อ/ ช่องทางประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายข้อมูลสมาชิกและหน่วยงานพันมิตรของ ททท. และการบินไทย ช่องทางการสั่งซื้อสินค้าคุณภาพของไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติที่เป็นพันธมิตรของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ในส่วนการส่งเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทย จะจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย มาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการส่งออก ด้วยการแลกเปลี่ยนวิทยากรหรือให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการที่แต่ละฝ่ายจัดขึ้นด้วย
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169