Header Image
คำถามที่ถูกถามบ่อย สอบถามเพิ่มเติม
หน่วยงาน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
หลักเกณฑ์การจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมตราของบริษัท?

การแก้ไขเพิ่มเติมตราของบริษัท จะต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น หรือที่ประชุมคณะกรรมการ

เหตุที่จะเลิกบริษัท ?

1.เลิกตามที่ข้อบังคับกำหนดกรณีที่จะเลิกไว้
2.เลิกตามกำหนดเวลาที่จดทะเบียนไว้
3.ถ้าบริษัทตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างเดียว บริษัทย่อมเลิกกันเมื่อเสร็จการนั้น
4.เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก
5.เมื่อบริษัทล้มละลาย
6.เมื่อศาลสั่งให้เลิก  

การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียน?

การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนผู้ขอจดทะเบียนต้องลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน พร้อมแสดงบัตรประจำตัว ในกรณีที่ไม่อาจลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนได้ไม่ว่าด้วยระการใดๆ ให้ถือว่าลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนเป็นที่ถูกต้อง เมื่อผู้ขอจดทะเบียนลงลายมือชื่อด้วยตนเองต่อหน้าบุคคลดังต่อไปนี้

1. กรณีลงลายมือชื่อในราชอาณาจักร ก. พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งประจำอยู่ในท้องที่ที่ผู้ขอจดทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ ข. สามัญสมาชิกหรือสมาชิกวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือ ค. บุคคลอื่นตามที่นายทะเบียนกลางประกาศกำหนด ได้แก่ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต กรรมการและเจ้าหน้าที่หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัด ตามประกาศสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางฯ

2. กรณีลงลายมือชื่อในต่างประเทศ ก. เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยหรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินงาน ณ ประเทศนั้น หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนบุคคลดังกล่าว ข.บุคคลซึ่งสามารถให้การรับรองที่สมบูรณ์ตามแบบของกฎหมายแห่งประเทศนั้น หรือ ค.บุคคลที่ควรเชื่อถือได้สองคนมาลงลายมือชื่อรับรองต่อหน้านายทะเบียนว่าเป็นลายมือชื่อผู้นั้นจริง 

คำแสดงนิติฐานะของบริษัทในดวงตรา จะใช้คำย่อได้หรือไม่ ?

 ไม่ได้ การใช้ชื่อและบริษัทจำกัดเป็นตราหรือส่วนหนึ่งของตรา จะต้องระบุคำแสดงนิติฐานะ โดยใช้ “บริษัท” ไว้หน้าชื่อ และ “จำกัด” ไว้ท้ายชื่อ (ยกเว้นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “บริษัท” ไว้หน้าชื่อ

บริษัทจำเป็นต้องจดทะเบียนตราของบริษัทด้วยหรือไม่?

บริษัทขอจดทะเบียนตราของบริษัทหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่อำนาจกรรมการ ระบุว่าต้องประทับตราสำคัญบริษัท ต้องขอจดทะเบียนดวงตราสำคัญด้วย

ทางราชการมีการแก้ไขเลขที่ ถนน แขวง เขตของสำนักงาน จะต้องทำอย่างไร?

1. ให้กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำหนังสือถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ขอแก้ไขเลขที่ ถนน แขวง เขตให้ถูกต้อง

2. แนบหลักฐานที่ราชการแก้ไขประกอบหนังสือด้วย 

การเปลี่ยนอำนาจกรรมการจะต้องประชุมผู้ถือหุ้นหรือกรรมการ?

การเปลี่ยนอำนาจกรรมการจะต้องประชุมผู้ถือหุ้น เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัท จะกำหนดให้คณะกรรมการ เป็นผู้กำหนด อำนาจกรรมการได้

กรรมการบริษัทจะต้องมีกี่คน?

1. กรณีที่บริษัทได้กำหนดจำนวนของกรรมการไว้ในข้อบังคับของบริษัท การแต่งตั้งกรรมการก็ต้อง เป็นไปตามจำนวนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

2. กรณีที่บริษัทไม่ได้กำหนดจำนวนกรรมการไว้ในข้อบังคับของบริษัท การแต่งตั้งกรรมการเป็นไปตามมติ ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะกำหนดว่ากรรมการของบริษัทจะมีกี่คน

กรรมการตายต้องทำอย่างไร?

 ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมการออกจากตำแหน่ง หากกรรมการที่ตายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ให้จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจกรรมการด้วย

กรรมการลาออกและจะแต่งตั้งกรรมการใหม่แทน จะต้องประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้น?

1. ถ้ากรรมการลาออกก่อนครบกำหนดวาระการเป็นกรรมการและบริษัทต้องการจะแต่งตั้งกรรมการ ใหม่แทน จะประชุมกรรมการหรือผู้ถือหุ้นก็ได้

2. ถ้ากรรมการลาออกเมื่อครบกำหนดวาระการเป็นกรรมการและบริษัทต้องการแต่งตั้งกรรมการ ใหม่แทน ต้องประชุมผู้ถือหุ้น 

ใครจะเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมบริษัท?

คำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมบริษัททุกประเภท ต้องลงชื่อโดยกรรมการตามอำนาจที่ได้จดทะเบียนไว้เดิม

วัตถุที่ประสงค์จะพิมพ์ขึ้นมาเอง โดยไม่ใช้วัตถุที่ประสงค์สำเร็จรูปของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้หรือไม่?

“ได้” โดยให้พิมพ์ลงในแบบ ว. (สีขาว) ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่นายทะเบียนจัดพิมพ์ขึ้น

หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อของบริษัท?

1. การแก้ไขเพิ่มเติมชื่อของบริษัท ต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นให้แก้ไขชื่อได้

2. หากบริษัทได้จดทะเบียนดวงตราไว้และตรานั้นมีชื่อบริษัทอยู่ ต้องจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม ตราของบริษัทด้วย 

หลักเกณฑ์การเพิ่มทุนของบริษัท?

1. การเพิ่มทุนบริษัทจำกัดต้องได้รับมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ให้เพิ่มทุน

2. บริษัทจำกัดเพิ่มทุนได้ด้วยการออกหุ้นใหม่

3. หุ้นของบริษัทจำกัดที่ออกใหม่ ถ้าจะชำระด้วยสิ่งอื่นนอกจากตัวเงิน ต้องมีมติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

4. หุ้นของบริษัทจำกัดที่ออกใหม่นั้น จะขายให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้ 

อยากทราบทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุด

บริษัทจำกัด ตามกฎหมาย (ป.พ.พ.) กำหนดมูลค่าหุ้นไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท ฉะนั้น ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุดของบริษัท คือ 15 บาท ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้แล้ว ห้างหุ้นส่วน กฎหมายไม่ได้กำหนดทุนขั้นต่ำไว้

จดทะเบียนว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว จะขอเปลี่ยนเป็นชำระ 25% ได้หรือไม่?

เอกสารในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทเป็นเอกสารมหาชน เมื่อนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนแล้วจึงไม่สามารถจะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดนั้นได้ ดังนั้นในการจดทะเบียนแต่ละครั้ง ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ถูกต้องและตรงตามความจริงทุกครั้งก่อนยื่นจดทะเบียน และขอเตือนว่าอย่าได้ลงชื่อในคำขอจดทะเบียนโดยยังไม่มีการกรอกรายละเอียดเด็ดขาด

หลักเกณฑ์การควบบริษัท

1. บริษัทจะควบเข้ากันได้ โดยแต่ละบริษัทเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีมติพิเศษให้ควบบริษัท

2. ถ้าหากมีเจ้าหนี้คัดค้าน บริษัทจะต้องใช้หนี้หรือได้ให้ประกัน เพื่อหนี้รายนั้นก่อนจึงจะควบ เข้ากันได้

3. จำนวนทุนและหุ้นของบริษัทใหม่นั้น ต้องเท่ากับยอดรวมจำนวนทุนและหุ้นของบริษัทเดิม ที่มาจะควบเข้ากัน

4. สิทธิและความรับผิดของแต่ละบริษัทเดิมที่ได้มาควบบริษัทกัน ย่อมเป็นสิทธิและความรับผิด ของบริษัทใหม่ 

ผู้ถือหุ้นของบริษัทเหลือไม่ถึง 3 คน จะได้หรือไม่?

ได้ แต่อาจเป็นเหตุให้ศาลสั่งให้เลิกบริษัท

ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้หรือไม่?

ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้ ต้องปรากฏว่า

1. มีอายุไม่น้อยกว่า 12 ปี

2. ได้ลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบด้วยตนเอง

การขอจดทะเบียนพาณิชย์ จะต้องนำหลักฐานอะไรไปบ้าง?

การขอจดทะเบียนพาณิชย์กรณีเป็นบุคคลธรรมดาจะต้องใช้หลักฐาน ดังนี้ 
 
1. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ 
 
2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบพาณิชยกิจ 
 
3. กรณีผู้ประกอบพาณิชยกิจมิได้เป็นเจ้าบ้านต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้ 
 
(3.1) หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ 
 
(3.2) สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่าโดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้ความยินยอม 
 
(3.3) แผนที่แสดงสถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชยกิจ และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป 
 
4. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี) 
 
5. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี) 

การจดทะเบียนพาณิชย์ ให้บุคคลอื่นมาจดให้ได้หรือไม่?

ได้ แต่ผู้ประกอบพาณิชยกิจจะต้องลงลายมือในคำขอ และนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ซึ่งผู้ประกอบการพาณิชยกิจได้ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว พร้อมด้วยหนังสือมอบอำนาจ แนบคำขอจดทะเบียนมาด้วย

เมื่อใบสำคัญการจดทะเบียนทะเบียนพาณิชย์ชำรุด หรือสูญหายจะทำอย่างไร?

ให้ขอใบแทนใบสำคัญการจดทะเบียนพาณิชย์ โดยนำใบทะเบียนพาณิชย์ที่ชำรุด หรือใบแจ้งความในกรณีที่ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายมาคืนด้วย

เมื่อเลิกประกอบพาณิชยกิจแล้ว ผู้ประกอบพาณิชยกิจควรทำอย่างไร?

ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องยื่นคำขอจดทะเบียนเลิก ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่เลิก โดยนำใบทะเบียนพาณิชย์มาคืนด้วย

เมื่อย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนชื่อร้าน หรือมีการเปลี่ยนแปลงรายการ ตามที่จดทะเบียนไว้จะต้องทำอย่างไร?

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายการใดก็ตาม ที่จดทะเบียนไว้ จะต้องยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยนำใบสำคัญการจดทะเบียนพาณิชย์ฉบับเดิมมาด้วย

เมื่อจดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจแล้ว ต่อมาจะเปิดร้านทำการค้าใหม่จะทำได้หรือไม่?

ได้ โดยต้องมาจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เปิดร้านทำการค้าใหม่

ผู้ประกอบการพาณิชยกิจคนเดียวจะมีร้านหลายร้านได้หรือไม่?

ได้

จะจองชื่อนิติบุคคลได้ที่ใดบ้าง?

การยื่นจองชื่อนิติบุคคลสามารถยื่นผ่านทางระบบ internet ที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th

ใครเป็นผู้ยื่นขอจองชื่อ?

การจองชื่อนิติบุคคลให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้เริ่มก่อการหรือกรรมการ เป็นผู้จองชื่อ

- กรณียื่นคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนบริษัทพร้อมกันภายในวันเดียวกันจะให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้จองชื่อก็ได้

- กรณีจองชื่อนิติบุคคลเพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือกรรมการเป็นผู้จองชื่อ 

ชื่อของห้างหุ้นส่วนและบริษัทจะซ้ำกันได้หรือไม่?

ชื่อของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดจะต้องไม่ซ้ำหรือมีเสียงเรียกขานตรงกันกับชื่อของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้แล้ว

ใบสำคัญการจดทะเบียนพาณิชย์จะใช้ได้ตลอดไปหรือไม่?

ใช้ได้ตลอดไป ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่จดทะเบียนไว้ หรือไม่ได้เลิกประกอบการค้า

จำนวนชื่อที่ของจองได้?

การยื่นขอจองชื่อ สามารถขอจองได้ครั้งละ 1 ชื่อ

ชื่อภาษาต่างประเทศจะขอใช้ได้หรือไม่?

“ได้” แต่ไม่รับจดทะเบียน

ชื่อที่จองได้แล้ว จะใช้ได้กี่วัน?

ชื่อที่นายทะเบียนตรวจสอบ และมีคำสั่งอนุญาตให้จองได้ ผู้ขอจดทะเบียนต้องยื่นขอจดทะเบียนให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งอนุญาต

ในขั้นตอนการจองชื่อไม่ได้ระบุชื่อภาษาต่างประเทศ หากต้องการใช้ภาษาต่างประเทศด้วยจะทำอย่างไร?

1. เข้าระบบจองชื่อ/จดทะเบียนนิติบุคคล

2. ยอมรับเงื่อนไขในการตรวจสอบและจองชื่อนิติบุคคล หากไม่ยอมรับเงื่อนไขก็ไม่สามารถเข้าระบบตรวจและจองชื่อนิติบุคคลได้

3. จองชื่อนิติบุคคลกรณีเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษ 

การส่งเสริมและพัฒนาด้านการตลาดสินค้าธุรกิจชุมชนและสินค้าหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์สามารถทําได้อย่างไร

แนวคําตอบ ในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบในการส่งเสริมและพัฒนาด้านการตลาดผลิตภัณฑ์หนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เช่น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดูแลรับผิดชอบ มีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เริ่มจากรับลงทะเบียนรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดสรรผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการพัฒนาเครือข่ายและองค์ความรู้ ด้วยการเน้นส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตพร้อมๆ กับเพิ่มศักยภาพกลุ่มอาชีพในแต่ละชุมชนโดยเน้นการบริหารจัดการและเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านการบริหารจัดการ การผลิต การตลาด และการจัดการทุนสิ่งสําคัญที่สุด ต้องเข้าใจเรื่องการตลาดนั้นคือการสร้างโอกาสทางการขาย เพื่อเพิ่มยอดขายและทําให้มีกําไรมากขึ้น รวมถึงแนวคิดเรื่องการสร้างแบรนด์และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอันจะเป็นการสร้างความภักดีจากลูกค้า โดยเฉพาะการบอกปากต่อปาก ซึ่งจะช่วยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้นการส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าชุมชนก็เช่นเดียวกัน จะต้องมองที่ความต้องการของลูกค้าเป็นสําคัญว่าลูกค้ามีความต้องการซื้ออะไร แบบไหน ความนิยมของลูกค้าเป็นอย่างไร แล้วจึงมาวางแผนการผลิตเพื่อสนองต่อความต้องการของลูกค้าจึงจะถือว่าเป็นการส่งเสริมพัฒนาตลาดสินค้าสมัยใหม่การตลาดสมัยใหม่ ต้องเน้นการบริการ และความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเริ่มมองจากภายนอกมา สู่ภายใน โดยพิจารณาประเด็นที่สําคัญๆ 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา
ลิขสิทธิ์ คุ้มครองอะไรบ้าง

กฎหมายคุ้มครองงานสร้างสรรค์ 9 ประเภทข้างต้น ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดโดยเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว เช่น ในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตน เป็นต้น

ไอเดีย แนวคิด กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองหรือไม่

กฎหมายจะไม่คุ้มครองถึงแนวความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ วิธีการใช้งาน หลักการ ของผลงานอันมีลิขสิทธิ์ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิด ไม่ว่าโดยวิธีหรือรูปแบบใด

การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษตามกฎหมายอย่างไร

การละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษทางอาญาทั้งจำคุกและโทษปรับแล้วแต่กรณี และเจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย โทษทางอาญา เช่น การทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และหากทำเพื่อการค้าต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

ความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง/ลูกจ้างเกิดขึ้นได้ 2 กรณี

(1) ถ้าผู้สร้างสรรค์สร้างงานในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น กฎหมายกำหนดให้ลิขสิทธิ์เป็นของผู้สร้างสรรค์ (ลูกจ้าง) แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ได้ตามวัตถุประสงค์ของการจ้างแรงงานนั้น
(2) ถ้าผู้สร้างสรรค์สร้างสรรค์งานโดยการรับจ้างจากบุคคลอื่น กฎหมายให้ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

คนไทยสามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศใดได้บ้าง

 เนื่องจากกฎหมายสิทธิบัตรไทยใช้หลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ ที่ยอมให้คนที่มีสัญชาติของประเทศอื่นยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทยได้ ดังนั้นคนไทยก็สามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรในประเทศนั้นได้เช่นกัน เช่น สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ยุโรป, สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี, สาธารณรัฐเกาหลี ฯลฯ หากแต่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น การแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการแทนผู้ขอ เป็นต้น

หากได้รับหนังสือแจ้งให้ดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเวลา 90 วัน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน

หากได้รับหนังสือแจ้งให้ให้ดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในเวลา 90 วัน และผู้ขอไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลา ก็สามารถที่จะขอผ่อนผันการดำเนินการได้สองครั้งโดยครั้งแรกขอผ่อนผันได้อีก 90 วัน และครั้งที่สองขอผ่อนผันได้อีก 30 วันซึ่งต้องขอก่อนครบกำหนดเวลาในแต่ละครั้ง โดยทำเป็นหนังสือ ถึง ผู้อำนวยการสำนักสิทธิบัตร

ข้อถือสิทธิคืออะไร

ข้อถือสิทธิเป็นส่วนที่ผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ระบุถึงขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ต้องการได้รับความคุ้มครองข้อถือสิทธิ เป็นการระบุถึงส่วนของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอต้องการสงวนสิทธิมิให้คนอื่นแสดงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์
โดยหลักการทั่วไปแล้ว ขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ระบุในข้อถือสิทธิจะต้องไม่กว้างหรือเกินไปกว่าที่ผู้ขอได้ทำการประดิษฐ์นั้น และที่ได้เปิดเผยในรายละเอียดการประดิษฐ์ ดังนั้นหากผู้ขอต้องการขอถือสิทธิในลักษณะของส่วนของการประดิษฐ์ ก็จะต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะส่วนนั้นของการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ชัดแจ้ง และรัดกุม
ในรายละเอียดการประดิษฐ์ด้วยข้อถือสิทธิต้องระบุลักษณะของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอประสงค์จะขอรับควา มคุ้มครองโดยชัดแจ้ง รัดกุม และสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์ ถ้าข้อถือสิทธิไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คำขอนั้นอาจถูกปฏิเสธได้ หลักที่ว่าข้อถือสิทธิจะต้องสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้นส่วนที่ว่าข้อถือสิทธิจะต้องชัดแจ้งและรัดกุมนั้น พอสรุปได้ว่ามีอยู่ 2 ความหมายดังนี้
1.ลักษณะของถ้อยคำที่ใช้จะต้องชัดแจ้งและรัดกุม
ถ้อยคำที่ใช้จะต้องชัดเจน ห้ามใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือหรือมีความหมายเพื่อเลือกแบบกว้างๆ เช่น ระบุว่าส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการประดิษฐ์นั้น “ทำจากโลหะหรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน” ย่อมไม่ชัดเจน เพราะสิ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับโลหะมีมากมาย
2. ลักษณะของการแยกและจัดลำดับข้อถือสิทธิ
ความชัดแจ้งและรัดกุมของข้อถือสิทธิอาจเกิดขึ้นจากวิธีการแยกและการจัดลำดับข้อถือสิทธิ รวมทั้งการอ้างอิงถึงข้อถือสิทธิอื่นๆ ในคำขอเดียวกันนั้นด้วย การพิจารณาว่าควรแยกข้อถือสิทธิออกเป็นหลายข้อหรือควรมีข้อถือสิทธิเพียงข้อเดียวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะองค์ประกอบหรือโครงสร้างซับซ้อนหรือไม่เพียงใด ถ้าเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ซับซ้อนก็ไม่ควรแยกข้อถือสิทธิเป็นหลายข้อ เพราะจะทำให้ขาดความชัดแจ้งและรัดกุม ในทางกลับกันถ้าเป็นการประดิษฐ์ที่ซับซ้อนมาก หากไม่แยกข้อถือสิทธิออกเป็นหลาย ๆ ข้อก็จะทำให้ขาดความชัดแจ้งและรัดกุมเช่นเดียวกัน
ข้อถือสิทธิที่ใช้ระบุถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นสาระสำคัญของการประดิษฐ์เรียกว่า “ข้อถือสิทธิหลัก” ส่วนข้อถือสิทธิที่ระลึกถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นลักษณะพิเศษหรือรายละเอียดปลีกย่อย เรียกว่า “ข้อถือสิทธิรอง” โดยทั่วไป การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรมักมีลักษณะที่ไม่ซับซ้อนมากจึงมักจะมีข้อถือสิทธิหลักเพียงข้อเดียวและมีข้อถือสิทธิรองอีก 2-3 ข้อ
ในกรณีที่ข้อถือสิทธิหลักเพียงข้อเดียวไม่สามารถคลุมถึงลักษณะทางเทคนิคของการประดิษฐ์ได้ทั้งหมด ผู้ขอจะระบุข้อถือสิทธิหลักหลายข้อสำหรับลักษณะของการประดิษฐ์ประเภทเดียวกันในคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ฉบับหนึ่งก็ได้ การอ้างถึงข้อถือสิทธิอื่นในข้อถือรองนั้น จะต้องอ้างในลักษณะที่เป็นทางเลือกเท่านั้น "ประกอบด้วยเครื่องเขย่าที่มีลักษณะพิเศษ….” แต่จะระบุว่า “6. กระถางตามข้อถือสิทธิข้อที่ 1 และ 2 ที่ซึ่งประกอบด้วยส่วนเก็บน้ำที่มีลักษณะพิเศษ” ไม่ได้

เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถโอนงานลิขสิทธิ์ของตนเองให้แก่บุคคลอื่นได้หรือไม่ อย่างไร

เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถโอนงานลิขสิทธิ์ของตนเองให้แก่บุคคลอื่นได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และสามารถโอนโดยกำหนดระยะเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์
หากการโอนงานลิขสิทธิ์ดังกล่าวมิใช่ทางมรดกต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชี่อผู้โอนและผู้รับโอน ทั้งนี้ถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน ให้ถือว่าการโอนมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี

งานรวบรวม และฐานข้อมูล มีลิขสิทธิ์หรือไม่

งานที่มีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มารวบรวมหรือประกอบเข้าด้วยกัน โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
ฐานข้อมูล (database) ซึ่งเป็นการนำเอาข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน โดยได้มีการคัดเลือกหรือจัดลำดับ ในลักษณะที่ไม่ได้ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
ผู้รวบรวม หรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงาน หรือข้อมูล หรือสิ่งอื่นใด ของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกนำมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน

หากได้รับอนุญาตให้ดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ผู้ใดจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลง

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดว่าหากการดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง

การดัดแปลงผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

การดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์ ต้องจดทะเบียนหรือไม่

ลิขสิทธิ์ เป็นสิทธิที่กฎหมายให้ความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องจดทะเบียน

งานลิขสิทธิ์ คืออะไร

งานลิขสิทธิ์มี 9 ประเภท ได้แก่ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ

เครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ถูกจำหน่ายไปแล้ว สามารถนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้หรือไม่

เครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ถูกจำหน่ายไปแล้วสามารถนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้ขอจดทะเบียนจะต้องตรวจสอบรายละเอียดของการพิจารณาถึงเหตุผลที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียน หากเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ หากท่านนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่อาจจะไม่ได้รับการจดทะเบียนเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ นอกจากนี้หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ถูกเพิกถอนทางทะเบียนเนื่องจากไม่มีการต่ออายุ หากท่านนำเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นมายื่นขอจดทะเบียน ท่านอาจถูกเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ หากว่าเจ้าของเดิมพิสูจน์ได้ว่ายังคงใช้เครื่องหมายการค้านั้นในการประกอบธุรกิจการค้ามาโดยตลอดแม้จะไม่ได้มีการต่ออายุ

กรณีต้องการตรวจสอบความก้าวหน้าของการพิจารณาคำขอจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตจะทำได้หรือไม่อย่างไร

การตรวจสอบความก้าวหน้าของการพิจารณาคำขอจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้ โดยสามารถค้นหาจากเลขที่คำขอ และชื่อเจ้าของเครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้กับกรมฯ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. เข้าเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th
2. เลือกบริการออนไลน์ เมนูระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
3. ใส่ User ID และ Password (กรณียังไม่เคยใช้บริการต้องเลือกสมัครสมาชิก)
4. คลิก”ตกลง”
5. เลือก ตรวจสอบสถานะคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
6. ใส่เลขที่คำขอ
7. คลิก “ค้นหา”

กรณีต้องการทราบว่าสินค้าที่จะยื่นขอจดทะเบียนอยู่จำพวกใด สามารถค้นหาได้อย่างไรบ้าง

การสืบค้นรายการสินค้าสามารถดาวน์โหลดรายการสินค้าได้ที่ www.ipthailand.go.th เลือกทรัพย์สินทางปัญญาไทย เลือกระบบเครื่องหมายการค้า เลือกรายการสินค้าและบริการที่ยื่นขอจดทะเบียน และเลือกดาวน์โหลดรายการสินค้าและบริการ

สัญลักษณ์ ® และ TM. หมายถึงอะไร และใช้กรณีใดบ้าง

          สัญลักษณ์ ® ย่อมาจากคำว่า Registered หมายถึง การจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนแล้ว เมื่อนำมาใช้กับเครื่องหมายการค้า แสดงได้ว่าเครื่องหมายนั้นได้รับการจดทะเบียนแล้ว
          คำว่า TM. ย่อมาจากคำว่า Trademark หมายความว่า เครื่องหมายการค้า เมื่อนำไปใช้กับเครื่องหมาย หรือภาพ หรือคำใดแล้ว เป็นเพียงตัวอักษรที่แสดงให้เห็นว่า เครื่องหมาย หรือภาพ หรือคำดังกล่าวนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของตน ดังนั้น คำว่า TM. จึงสามารถใช้ได้กับทั้งเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วและที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน

กรณีจดเครื่องหมายการค้าในนามบุคคลธรรมดา หากประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเจ้าของสามารถทำได้หรือไม่

กรณีดังกล่าวสามารถทำได้โดยใช้วิธีการโอนเครื่องหมายการค้า โดยมียื่นคำขอโอนและแนบเอกสารหลักฐานดังนี้
1.ใช้แบบฟอร์มแบบคำขอโอน (ก.04)
2.สัญญาโอน (ก.17) ลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน
3.สำเนาบัตรประจำตัวพร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องของผู้รับโอน (ผู้ขอจดทะเบียน)
4.ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของผู้รับโอน
5.กรณีมีการมอบอำนาจใช้หนังสือมอบอำนาจ (ก.18) สำเนาบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจ

กรณีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทางอินเตอร์เน็ตและชำระเงินค่าธรรมเนียมแล้ว จะต้องทำอย่างไร

          1. จัดทำต้นฉบับคำขอจดทะเบียน (ก.01) โดยมีข้อมูลถูกต้องตรงกันกับข้อมูลที่ระบุในระบบจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต และลงลายมือชื่อเจ้าของหรือผู้รับมอบอำนาจ พร้อมติดรูปเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับที่ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ต
          2. สำเนาบัตรประจำตัวพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ฉบับ (กรณีขอจดทะเบียนในนามบุคคลธรรมดา) หรือ ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกินหกเดือน จำนวน 1 ฉบับ (กรณีขอจดทะเบียนในนามนิติบุคคล)
          3. สำเนาหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาทต่อผู้รับมอบอำนาจ 1 คน (พร้อมขีดฆ่าอากรฯ) และสำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ฉบับ (กรณีมีการมอบอำนาจ)
          4. ให้ส่งต้นฉบับคำขอจดทะเบียน (ก.01) ตามข้อ 1. พร้อมเอกสารประกอบคำขอตามข้อ 2 และข้อ 3 มายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายในกำหนดเวลา 15 วันนับถัดจากวันที่ได้มีการส่งข้อมูลเข้าระบบ ทั้งนี้ ท่านสามารถยื่นคำขอด้วยตนเองหรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับมายัง นายทะเบียน สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ต) เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000

การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถยื่นได้ที่ใดบ้าง

การยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถกระทำได้ 5 ช่องทาง ดังนี้
         1. ยื่นคำขอด้วยตนเอง ต่อนายทะเบียน ณ กลุ่มบริการตรวจรับคำขอ ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
         2. ยื่นคำขอด้วยตนเอง ณ. สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทุกจังหวัด
         3. ยื่นคำขอโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึงนายทะเบียน สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่อยู่ 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 พร้อมแนบเอกสารประกอบคำขอ และชำระค่าธรรมเนียมทางธนาณัติ (สั่งจ่ายนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า)
         4. ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ตกรมทรัพย์สินทางปัญญา (www.ipthailand.go.th) ซึ่งผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจะต้องส่งต้นฉบับคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้มีการบันทึกข้อมูลลงในอินเตอร์เน็ต โดยสามารถยื่นด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้
         5. ยื่นผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (สนามบินน้ำ) ชั้น 4 ทั้งนี้ต้องยื่นพร้อมกับการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในคราวเดียวกัน

การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะต้องชำระค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีค่าธรรมเนียมดังนี้

          1. ค่าธรรมเนียมคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รายการสินค้า/บริการ อย่างละ 500 บาท ชำระพร้อมการยื่นคำขอจดทะเบียน

          2. ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รายการสินค้า/บริการ อย่างละ 300 บาท ชำระเมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนได้

การยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง

การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องใช้เอกสารหลักฐานดังนี้
1.   ต้นฉบับคำขอจดทะเบียน (แบบ ก. 01)  พร้อมสำเนาคำขอจดทะเบียน จำนวน 5 ฉบับ (รวม 6 ฉบับ)
2.   รูปเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียน ขนาดไม่เกิน 5 X 5 เซนติเมตร จำนวน 5 รูป กรณีรูปเครื่องหมายเกินขนาดที่กำหนดต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มในส่วนที่เกิน เซนติเมตรละ 100 บาท
3.   บัตรประจำตัวของเจ้าของเครื่องหมาย
3.1 กรณีบุคคลธรรมดา ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นๆที่ทาง
ราชการออกให้ หรือสำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
3.2 กรณีนิติบุคคล ให้ใช้ต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน
3.4 กรณีมีการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ใช้หนังสือตั้งตัวแทนหรือหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท ต่อตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ 1 คน และสำเนาบัตรประจำตัวของตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจ หากการตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจได้กระทำในต่างประเทศ หนังสือตัวตัวแทนหรือมอบอำนาจจะต้องมีคำรับรองลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานฑูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้กระทำการแทน หรือมีคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้น ให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อ
4.  หลักฐานการใช้เครื่องหมายกรณีนำสืบลักษณะบ่งเฉพาะหรือหนังสือขอผ่อนผันการนำส่งหลักฐานดังกล่าว (ก. 19) (ถ้ามี)

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
จะชอบถามผู้เชี่ยวชาญการส่งออก ปลาสวยงาม

สวัสดีครับผมนักศึกษา ป.ตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผมกำลังทำปริญานิพนธ์เกี่ยวกับการส่งออกปลาสวยงามระหว่างประเทศครับ ผมจะต้องทำแบบสอบถามขึ้นมาเพื้อถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัจจัยว่า ปัจจัยที่ผมศึกษามาจะสำเร็จหรือไม่ในการส่งออกปลาสวยงาม ผมต้องทำเรื่องถึงกระทรวงอย่างไรบ้างครับ และพอจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้สะดวกให้ผมเข้าไปสอบถามหรือป่าง ขอบคุณครับ
--------------------------
ตามที่ คุณวิชุดา แสนเทศ ได้สอบถาม/ขอคำปรึกษาจากศูนย์บริการการค้าระหว่างประเทศ ในเรื่อง “ต้องการทราบข้อมูลการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำร็จรูป จากต่างประเทศที่มาขายในไทยตั้งแต่ ปี 2552-ปัจจุบัน เกี่ยวกับ มูลค่าการนำเข้า บริษัทผู้นำเข้าทั้งหมด สามารถหาข้อมูลได้จากที่ใดบ้าง ผ่านทาง ditpservicecenter@gmail.com ความละเอียดทราบแล้ว นั้น
ศูนย์บริการการค้าระหว่างประเทศ ได้พิจารณาข้อสอบถามดังกล่าวแล้ว จึงขอเรียนให้ทราบ ดังนี้
1. ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูล มูลค่าการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ของไทย ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ www.ditp.go.th เมนูสถิติการค้า และดูข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยตามโครงสร้างสินค้าสำคัญ ที่เมนู รายงานภาษาไทย (Menucom : Thai) หรือ รายงานภาษาอังกฤษ (Menucom : English) และดูข้อมูลสรุปการค้าระหว่างประเทศ ที่เมนู Import และคลิ๊กที่แหล่งนำเข้า n อันดับแรกของไทยรายสินค้า เลือกสินค้าเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ และกดแสดงรายงาน เพื่อดูข้อมูลการนำเข้า 20 อันดับแรกของไทยรายประเทศ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ 1
2. จากการสืบค้นข้อมูลการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย จากฐานข้อมูลของกรมฯ www.gtis.com/GTA ตามพิกัดศุลกากร 190230 (พาสต้า ทำให้สุก ไม่ยัดไส้หรือปรุงแต่งโดยวิธีอื่น) ที่มีมูลค่าการส่งออกตั้งแต่ปี 2552 – 2558 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ 2
3. ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลบริษัทผู้นำเข้าทั้งหมดของสินค้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย ได้จากเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ www.moc.go.th เมนู สถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย และคลิกที่ รายชื่อผู้ส่งออก-นำเข้า แต่ท่านผู้ประกอบการต้องสมัครสมาชิกของเว็บไซต์เพื่อขอรับ Username Password ในการสืบค้นข้อมูล และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่เมนู รายชื่อผู้นำเข้าจำแนกตามฮาร์โมไนซ์ หรือ จำแนกตามสินค้าสำคัญ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบ 3
ทั้งนี้หาก ท่านผู้ประกอบการต้องการทราบข้อมูล/คำปรึกษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169 หรือ E-Mail: ditpservicecenter@gmail.com ค่ะ หรือพบเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาฯเพื่อปรึกษา/ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการฯ ทั้ง 2 แห่ง
1. ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถนนรัชดาภิเษก (ตรงข้ามศาลอาญา)
2. ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตึก 2 กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ
--------------------------

กรมการค้าต่างประเทศ
อยากสอบถามในเรื่องขั้นตอนการนำสินค้ากระเป๋าผ้าส่งออก

ผมเพิ่งเริ่มทำธุรกิจอยากจะทราบขั้นตอนในการทำกระเป๋าผ้าที่ทำจากใยธรรมชาติส่งออกจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ ผมเพิ่งเริ่มทำธุรกิจสามารถปรึกษาในหน่วยงานไหนได้บ้างครับ