นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ร่วมกับ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 16 หน่วยงาน ณ ห้องมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
นายพิชัย เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน จึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 16 หน่วยงาน เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวให้เห็นผลชัดเจนภายใน 3 เดือน (ภายในปี 2567) โดยมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทย และแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ และคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เพื่อขับเคลื่อนแผนงานสำคัญให้เห็นผลที่ชัดเจน โดยในที่ประชุมนายพิชัย ได้กล่าวชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ให้ความร่วมมือและเร่งแก้ไขปัญหาซึ่งได้มีการวางแผนการทำงานร่วมกัน ทั้งในระยะสั้น-กลาง-ยาว ที่สำคัญ สรุปผลได้ ดังนี้
1. ด้านการป้องกันและกำกับดูแล แผนระยะสั้นและผลการดำเนินงานที่เห็นผลแล้ว อาทิ
กรมศุลกากร จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากผู้นำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ประมาณ 823 ล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. - พ.ย. 67) กำกับดูแลการนำเข้า โดยเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า FCL (Full Container Load) จากเดิมร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 เข้มข้นในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ผ่านด่านมุกดาหารและนครพนม และ X-ray ตู้แบบ 100%
อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เพิ่มจำนวนการเก็บตัวอย่างสินค้าเพื่อตรวจสอบสารพิษตกค้างเป็น 10 เท่า จากเดิม 500 ตัวอย่าง/ปี เป็น 5,000 ตัวอย่าง/ปี และเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบจาก 3 วัน เหลือใช้เวลาเพียง1 วัน นอกจากนี้ มีการตรวจสอบสถานประกอบการ 34 แห่ง พบการกระทำผิดตามกฎหมายของ อย. 30,393 รายการ
สมอ. (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบสินค้ามาตรฐานบังคับที่วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์จากเดิม 1,080 URL/เดือน เป็น 1,620 URL/เดือน และมีการตรวจสอบดำเนินคดี 59 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 33 ล้านบาท
สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ตรวจสอบสินค้าตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พบการกระทำผิด 159 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 28 ล้านบาท
จากการตรวจสอบที่เข้มข้น พบว่า การนำเข้าสินค้าจากจีนผ่านช่องทาง e-Commerce ลดลงร้อยละ 27 เหลือเฉลี่ยเดือนละ 2,279 ล้านบาท (จากเดิมก่อนมีมาตรการเฉลี่ยเดือนละ 3,112 ล้านบาท) สำหรับแผนระยะถัดไปที่จะดำเนินการในปี 2568 จะเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพิ่มบุคลากรปฏิบัติงาน ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูล และพัฒนาระบบ AI เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติงาน อาทิ กรมศุลกากร ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบบริหารความเสี่ยงคัดกรองสินค้าที่ผิดกฎหมาย
อย. จะเพิ่มจำนวนการเก็บตัวอย่างสินค้าเกษตรเพื่อตรวจสารปนเปื้อนเป็น 200 ตัวอย่าง/วัน หรือ 73,000 ตัวอย่าง/ปี และของบประมาณในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ ณ ด่านอาหารและยาที่มีปริมาณการนำเข้าสินค้ามาก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเชียงของ และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สมอ. เพิ่มการตรวจสอบสินค้ามาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็น 3,000 URL/เดือน พัฒนาระบบ AI และเร่งเพิ่มจำนวนสินค้ามาตรฐานบังคับที่เหลือ 53 มาตรฐาน
กรมการค้าต่างประเทศ เร่งพิจารณาคำขอใช้มาตรการ AD/AC/SG กับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยลดระยะเวลาการพิจารณาภายใต้กรอบเวลาตามกฎหมาย และระยะยาว จะเร่งผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยที่ประชุม ยังได้เห็นชอบให้มีการจัดทำ MOU ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับ e-Commerce แพลตฟอร์ม โดยใช้มาตรการ Notice and Takedown เพื่อขอความร่วมมือให้แพลตฟอร์มนำสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ไม่ติดฉลากภาษาไทย หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออกจากแพลตฟอร์มซึ่งจะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้เข้าถึงสินค้าไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยคาดว่าจะลงนาม MOU ได้ ภายในต้นปี 2568
2. การส่งเสริมและต่อยอด SMEs ที่ประชุมได้มีการกำหนดแผนกิจกรรมทั้งการอบรมผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจของ SMEs ต่อ GDP จาก 35.2% ในปี 2566 เป็น 40% ในปี 2570
3. การป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว(Nominee) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเกี่ยวกับการปราบปราม/ดำเนินคดี และตรวจสอบนิติบุคคลที่กระทำความผิดนอมินี (Nominee) รวมทั้งได้มอบกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรับเรื่องร้องเรียนความผิดเกี่ยวกับนอมินี เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการรับเรื่องร้องเรียนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“หลังจากที่มีการประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการฯได้ดำเนินการแล้วมีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมชัดเจน มีการลดลงของสินค้านำเข้าและมีการแก้ไขเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จากนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กรรมการชุดนี้ ดำเนินการอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลเราต้องระวังความรู้สึกของประเทศจีนด้วย ผมได้มีการหารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเมื่อวานนี้ ท่านกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเหมือนป่าไม้ใหญ่ บางครั้งป่าไม้จะมีหนอนบ้าง เราต้องกำจัดหนอนทิ้ง และป่าไม้ก็จะเติบโตอุดมสมบูรณ์ต่อไป ความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนต้องพัฒนาต่อไป สำหรับการลงทุนที่มาถูกต้องเพื่อให้เศรษฐกิจไทยดี ก็เป็นสิ่งที่เราต้องส่งเสริม แต่ปัญหาที่มีอยู่เป็นเรื่องส่วนน้อย เปรียบเหมือนหนอน เราต้องกำจัดหนอนออกไป ภาพใหญ่คือความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนที่จะต้องดำเนินต่อไป และเราจะทำกับทุกประเทศไม่ใช่เพราะกับประเทศจีน การตรวจสอบนอมินีจะมีหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าเราตรวจทุกประเทศเท่ากันหมด ซึ่งจะดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไปผ่านหน่วยงานต่างๆ “นายพิชัย กล่าว
ด้านนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน - 4 ธันวาคม 2567 เราสามารถดำเนินคดีได้ทั้งหมด 747 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 11,720 ล้านบาท คือผลการดำเนินการที่เข้มข้นของทุกหน่วยงาน ซึ่งจะร่วมกันทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับทุกหน่วยงาน เพื่อให้ดูถึงบริษัทนอมินีที่มีความเสี่ยง โดยสามารถแจ้งข้อมูลต่างๆมาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่สายด่วน1570 และในระยะยาวเราจะแก้กฎหมายบางฉบับ เพื่อให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีอำนาจในการไม่จดทะเบียนการค้าให้กับบุคคลที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะบุคคลที่เป็นอาชญากรข้ามชาติ และคณะกรรมการจะประชุมผลการดำเนินการทุกไตรมาสและรายงานเข้าสู่ ครม.ให้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง