นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนางสาวสึจิยะ ชินาโกะ (TSUCHIYA Shinako) รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผู้รับผิดชอบดูแลการฟื้นฟูพื้นที่ 3 จังหวัด (จังหวัดมิยากิ จังหวัดฟูกูชิมะ และจังหวัดอิวาเตะ) ในภูมิภาคโทโฮคุ หลังจากภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ อาทิ เน้นการทำงานเชิงรุก และบูรณาการการทำงานร่วมกัน การเร่งเพิ่มตัวเลขการส่งออก สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์จากซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ของไทย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สอดรับกับกฎกติกาใหม่ๆ ของโลก เช่น เศรษฐกิจสีเขียว BCG, SDGs และได้ใช้โอกาสในการหารือครั้งนี้ แสดงความยินดีที่ไทย-ภูมิภาคโทโฮคุ (จังหวัดฟูกูชิมะ จังหวัดมิยากิ และจังหวัดอิวาเตะ) มีการค้าระหว่างกัน และหวังว่าทั้งสองประเทศจะสานต่อและกระชับความสัมพันธ์ ในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-ภูมิภาคโทโฮคุ ของญี่ปุ่นมีมูลค่า 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปภูมิภาคโทโฮคุมูลค่า 6,000 ล้านบาท และการไทยนำเข้าจากภูมิภาคโทโฮคุมูลค่า 7,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ไทยมีการนำเข้าสินค้าอาหารจากญี่ปุ่นมาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยกว่า 5,500 ร้าน นับว่ามากเป็นอันดับ 5 ของโลกรองจากสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 450,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 10-15 ในขณะเดียวกันรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำเสนอสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะอาหาร สำหรับผลไม้ เช่น กล้วยหอม ที่ได้รับการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น มังคุดที่ได้รับการผ่อนปรนการตรวจรับรองสุขอนามัยพืช ทุเรียน เครื่องสำอาง สินค้า BCG สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถนำมาต่อยอดทางการค้าระหว่างกันต่อไปในอนาคตได้
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่ไทยและภูมิภาค โทโฮคุมีศักยภาพและมีความสอดคล้องคล้ายคลึงกัน รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวสองทาง ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ และยังช่วยส่งเสริมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ พร้อมเห็นว่าเอกชนทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีบทบาทสำคัญต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น
สำหรับความร่วมมือด้านอื่น ๆ ไทยได้เชิญชวนผู้ประกอบการญี่ปุ่น สมัครออกงานแสดงสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้จัดงาน ในรูปแบบของภูมิภาคโทโฮคุพาวิลเลียน (Tohoku Pavillion) ได้แก่ งานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX – Anuga Asia งานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ STYLE Bangkok ส่วนด้านการลงทุน ได้ยืนยันไปว่า หากภาคเอกชนในภูมิภาคโทโฮคุ มีความประสงค์จะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจบริการในประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ มีความยินดีจะให้ความช่วยเหลือ
ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญยิ่งของไทยด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย โดยในปี 2566 (มกราคม – พฤศจิกายน) มีมูลค่าการค้ารวม 51,903.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,797,974.02 ล้านบาท) แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 22,939.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (789,60.04 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.35 และการนำเข้ามูลค่า 28,963.62 (1,00.372.98 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.25