MOC 103 Years

Header Image
นายอับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย เข้าพบหารือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2567 ณ กระทรวงพาณิชย์
watermark

          นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายอับดุรเราะห์มาน อับดุลอะซีซ อัลซุฮัยบานี เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่าเป็นครั้งแรกที่ตนได้พูดคุยกระชับความสัมพันธ์กับฝ่ายซาอุดีอาระเบีย โดยเป็นการหารือเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ดร. มาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย ในฐานะแขกของกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 – 10 พฤษภาคม 2567
          นับตั้งแต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2565 ไทยกับซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว มีการเดินทางเยือนของผู้แทนระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 และการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้าที่มิใช่น้ำมัน (non-oil trade) และยังมีศักยภาพในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศได้อีกมาก โดยไทยได้แสดงความพร้อมที่จะใช้จุดเด่นของไทยในการสนับสนุนด้านความมั่นคงทางอาหารให้แก่ซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ฝ่ายซาอุดีฯ ได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นแหล่งความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ไทย
          นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้แสดงความพร้อมและความยินดีอย่างยิ่งที่จะต้อนรับ ดร.มาญิด ซึ่งจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดย ดร. มาญิด เป็นรัฐมนตรีที่มีบทบาทสำคัญ และได้รับการยอมรับจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง โดย ดร. มาญิด จะนำคณะภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวนกว่า 100 บริษัท เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนสองฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกันอีกมาก โดยเฉพาะในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม การก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง การท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและของใช้ในบ้าน ยานยนต์และชิ้นส่วน ปุ๋ย พลังงานและพลังงานทดแทน
          ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทย และอันดับที่ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2566 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 8,796.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (305,738.80 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนการค้าร้อยละ 1.53 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 2,667.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (92,076.43 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 6,128.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (213,662.37 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันสำเร็จรูป 

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar